วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

แอรีส (Ares) เทพแห่งสงคราม

แอรีส เป็นโอรสของมหาเทพซูส กับเทพีเฮร่า
แอรีส เป็นเทพที่มีอุปนิสัยโหดร้าย ป่าเถื่อน ชมชอบการต่อสู้ เป็นนักรบ เป็นเทพแห่งสงคราม
นิสัยของแอรีสนี้กลับตรงข้ามกับเทพีอาธีน่าซึ่งเป็นเทพีแห่งปัญญาและเป็นเทพีแห่งสงครามด้วย เพราะเทพีอาธีน่านั้นสุขุม เฉลียวฉลาด และกล้าหาญ เป็นที่ยกย่องของคนทั่วไป
ด้วยเหตุนี้แอรีสจึงไม่ค่อยถูกชะตาเทพีอาธีน่านัก
 
ครั้งหนึ่งเทพแอรีสทะเลาะกับเทพีอาธีน่า เทพแอรีสบันดาลโทสะขว้างจักรเข้าใส่เทพีอาธีน่า เทพีอาธีน่าหลบได้ และยกหินที่วางอยู่ใกล้ๆ ทุ่มตอบกลับไป หินนั้นกระแทกจนแอรีสทรุดลงกองกับพื้น จึงนับได้ว่าสงครามหรือจะสู้ปัญญา
นอกจากจะแพ้แก่เทพีอาธีน่าแล้ว แอรีสก็ยังแพ้มนุษย์ด้วย แต่มนุษย์คนนั้นเป็นโอรสองค์หนึ่งของซูส คือ เฮอร์คิวลิส
เฮอร์คิวลิสสังหารโอรสของแอรีสคนหนึ่ง เมื่อเทพแอรีสเข้าช่วย ก็ถูกเฮอร์คิวลิสต่อยตีจนต้องหนีขึ้นไปบนโอลิมปัส และนำเรื่องฟ้องมหาเทพ แต่ซูสตัดสินไกล่เกลี่ยให้เลิกรากันไปเนื่องเพราะทั้งสองฝ่ายต่างเป็นพี่น้องกัน
ด้วยนิสัยโหดร้าย ป่าเถื่อน และคึกคะนอง เทพแอรีสจึงมักเดินทางไปไหนมาไหนด้วยรถศึกเทียมม้าฝีเท้าจัดมากมาย สวมเสื้อเกราะและพกพาอาวุธประหนึ่งจะออกรบ โดยมีโอรสที่เกิดกับอีริสเป็นบริวารคอยติดสอยห้อยตาม 2 องค์ คือ เดมอส (Deimos) ซึ่งแปลว่าความกลัว กับ โฟบอส (Phobos) แปลว่าความน่าสยองขวัญ
แอรีสไม่มีชายาออกหน้าออกตาเป็นตัวเป็นตน มีแต่ชู้รักที่ออกหน้าออกตา คือ เทพีอะโฟรไดต์ ผู้เป็นชายาของเทพการช่างเฮเฟตัส
คลิ๊ก..เพื่อดูภาพขนาดใหญ่ จาก www.wga.hu 
 
อะโฟรไดต์นั้นไม่ชอบความขี้เหร่ของเฮเฟตัส จึงได้ลักลอบเป็นชู้กับแอรีส โดยทั้งสองลักลอบอยู่ด้วยกันทุกคืน โดยแอรีสใช้ให้หนุ่มน้อยอะเล็กไทรออนคอยปลุกก่อนสว่างทุกวัน ซึ่งอะเล็กไทรออนก็ทำหน้าที่ได้ไม่ขาดตกบกพร่องตลอดมา
แต่วันหนึ่ง อะเล็กไทรออนเผลอหลับยาม ปล่อยให้สุริยเทพอพอลโลมองเห็นแอรีสกับอะโฟรไดต์เปลือยเปล่าอยู่ด้วยกัน อพอลโลจึงนำข่าวไปบอกเฮเฟตัส
เฮเฟตัสนั้นได้ยินข่าวชู้รักทั้งสองมานานแล้ว แต่ยังจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน แต่ก็ได้เตรียมทอแหเอาไว้จับชู้รักทั้งสองไว้แล้ว เมื่อรู้ข่าวดังนั้นเฮเฟตัสจึงใช้แหจับแอรีสกับอโฟรไดทีไว้ได้ และพาทั้งสองมาให้เทพสภาตัดสิน
แต่ด้วยอิทธิฤทธิ์ของเข็มขัดที่เฮเฟตัสประดิษฐ์ให้อะโฟรไดต์เป็นของขวัญวันแต่งงาน ปวงเทพทั้งหลายจึงไม่ตัดสินลงโทษผู้ใด แต่ครั้งนี้ก็ทำให้ชู้รักทั้งสองอับอายขายหน้าไปทั้งสวรรค์
 
แอรีสโกรธอะเล็กไทรออนมาก จึงสาปให้เขากลายเป็นไก่ มีหน้าที่ตื่นขึ้นมาขันบอกเวลายามเช้ามาจนถึงทุกวันนี้
ถึงแม้จะถูกจับได้ แต่แอรีสกับอะโฟรไดต์ก็ยังแอบเป็นชู้กันอยู่เรื่อยมา จนมีโอรสและธิดาด้วยกันอย่างละ 2 องค์ โอรส คือ อีรอส กับแอนติรอส ส่วนธิดา คือ เฮอร์ไมโอนี กับอัลซิปเป
นางเฮอร์ไมโอนีนั้นต่อมาได้เป็นราชินีแห่งนครธีปส์
ส่วนนางอัลซิปเปต่อมาถูกโอรสของโพไซดอนเจ้าสมุทรลักพาตัวไป เทพแอรีสโกรธมากจึงฆ่าโอรสโพไซดอนตาย โพไซดอนไปฟ้องเทพสภาว่าแอรีสทำเกินกว่าเหตุ แต่เทพสภาตัดสินให้แอรีสชนะ
เรื่องราวความรักของแอรีสนั้น แม้ตนเองจะเป็นเพียงแค่ชู้รักกับอะโฟรไดต์ แต่แอรีสนั้นรักและหึงหวงนางมากจนถึงกับทำให้หนุ่มน้อยคนหนึ่งต้องเสียชีวิตลง
หนุ่มน้อยคนนั้นคือ อโดนิส
อโดนิสนั้นมีกำเนิดมาจากต้นไม้ เทพีอะโฟรไดต์ไปพบเข้าขณะที่ต้นไม้กำลังล้ม ซึ่งขณะนั้นอโดนิสยังเป็นเด็กน้อยอยู่ อะโฟรไดต์จึงตั้งชื่อให้และนำไปฝากให้เทพีเพอร์ซีโฟเน่มเหสีแห่งยมโลกช่วยเลี้ยงดู
อโดนิสเติบโตเป็นชายหนุ่มรูปสวย ไม่ว่าเขาจะย่างเท้าไปทางไหน ดอกไม้ก็จะเบ่งบาน นกจะร้องเพลงเริงร่า และหมู่ผีเสื้อก็จะโบยบินตามหลังเขาไป
อโดนิสชมชอบธรรมชาติ และชอบล่าสัตว์มาก เขาเป็นนักล่าสัตว์ที่เก่งกล้า
วันหนึ่งเทพีอะโฟรไดต์หยอกเล่นกับอีรอสผู้เป็นโอรส พระนางเผลอถูกปลายศรรักของอีรอสสะกิดเข้านิดหนึ่ง แผลนั้นแม้จะเล็กเพียงนิดเดียวแต่ก็ส่งผลให้เมื่อพระนางมาพบอโดนิสที่กำลังล่าสัตว์อยู่กลางป่า พระนางก็เกิดหลงรักหนุ่มน้อยรูปงามคนนี้อย่างหัวปักหัวปำ และคิดจะเอาตัวอโดนิสไปเป็นสวามีลับๆ อีกคน แต่เทพีเพอร์ซีโฟเน่ไม่ยอมเนื่องจากพระนางก็ต้องการเก็บหนุ่มน้อยอโดนิสไว้เป็นสวามีลับด้วยเช่นกัน ทำให้เทพีทั้งสองทะเลาะกัน
เรื่องรู้ถึงหูซูส มหาเทพจึงยุติศึกโดยตัดสินให้แต่ละปีอโดนิสต้องใช้ชีวิต 4 เดือนอยู่กับเทพีอะโฟรไดต์ อีก 4 เดือนอยู่กับเทพีเพอร์ซีโฟเน่ ส่วนอีก 4 เดือนที่เหลือให้อโดนิสเลือกใช้ชีวิตได้ตามชอบใจ
ผลการตัดสินเป็นที่พึงพอใจของสองเทพี แต่ขัดใจแอรีสมาก เนื่องจากอะโฟรไดต์เฝ้าเอาใจอโดนิสออกหน้าออกตาจนแทบจะหลงลืมเทพแอรีสไปเลย
วันหนึ่งเทพแอรีสจึงจำแลงแปลงกายเป็นหมูป่ามาหลอกล่อให้อโดนิสไล่ล่า และฉวยโอกาสขวิดอโดนิสจนถึงแก่ความตายที่กลางป่า
 
เทพีอะโฟรไดต์มาพบร่างอโดนิสเมื่อสายเสียแล้ว พระนางจึงต้องหลั่งน้ำตาด้วยความอาลัยรักในตัวหนุ่มน้อย เมื่อหยดน้ำตาของเทพีแห่งความรักตกต้องเลือดสีแดงของอโดนิส ก็บังเกิดต้นไม้ชนิดหนึ่งงอกงามขึ้นและออกดอกสีแดงดังสีเลือด
ดอกไม้นั้น คือ ดอกอโดนิส ดอกไม้แห่งความรัก
นอกจากอะโฟรไดต์แล้ว แอรีสยังมีชายาอีกคนหนึ่ง คือ นางอีเลีย
นางอีเลียเป็นธิดาของท้าวนิวไมเทอร์ เจ้าเกาะอัลบา ซึ่งต่อมาได้ถูกอนุชาชื่อท้าวอัมมิวเลียสยึดอำนาจไป
เมื่อโตขึ้นนางอีเลียได้ทำหน้าที่เป็นเวสตัลพรหมจารีสาวกของเทพีเฮสเทีย มีหน้าที่ดูแลไฟศักดิ์สิทธิ์ในวิหาร ซึ่งกฎของการเป็นเวสตัลพรหมจารีคือห้ามแต่งงานมีสามี
เทพแอรีสมาลักลอบได้นางอีเลียเป็นชายา และให้กำเนิดโอรสฝาแฝดชื่อโรมิวลัส กับรีมัส
หลังให้กำเนิดโอรส นางอีเลียก็ถูกลงโทษโดยการฝังทั้งเป็นตามกฎของเวสตัล
ส่วนโอรสทั้งสองถูกท้าวอัมมิวเลียสจับปล่อยลอยแพไปตามน้ำไทเบอร์ โชคดีที่ทารกน้อยทั้งสองลอยมาติดชายฝั่งอย่างปลอดภัย แถมยังได้แม่สุนัขป่านำไปเลี้ยงดู
เมื่อโตขึ้นหน่อยหนึ่ง ชายเลี้ยงแกะก็มาเจอเด็กทั้งสองเข้า เขาจึงได้พาเด็กทั้งสองกลับไปเลี้ยดูจนเติบใหญ่
โรมิวลัสกับรีมัส เมื่อโตเป็นหนุ่มก็ตั้งตนเป็นหัวหน้าคนเลี้ยงแกะ เมื่อซ่องสุมกำลังพลจนกล้าแข็ง ทั้งสองก็ยกกำลังพลไปขับไล่ท้าวอัมมิวเลียสออกจากบัลลังก์ได้ และสถาปนาท้าวนิวไมเทอร์ผู้เป็นพระอัยกาขึ้นครองบัลลังก์ตามเดิม
โรมิวลัสและรีมัสหารือกันและตกลงมาช่วยกันสร้างเมืองใหม่ริมฝั่งน้ำที่ทั้งสองเคยอยู่ตอนเด็กๆ แต่ทั้งสองเกิดขัดแย้งกันเองจนโรมิวลัสบันดาลโทสะฆ่ารีมัสตาย
โรมิวลัสสร้างเมืองต่อไปจนสำเร็จ และตั้งชื่อเมืองว่ากรุงโรมตามชื่อของตน
กรุงโรมนี้เทพแอรีสจะคอยปกปักรักษาเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นเมืองของโอรสของพระองค์เอง พระองค์ส่งโล่ห์ประจำองค์มาช่วยปกป้องกรุงโรม ซึ่งชาวโรมได้สร้างโล่ห์จำลองขึ้นอีก 11 อัน เพื่อป้องกันไม่ให้ใครรู้ว่าอันไหนเป็นโล่ห์จริง เพื่อป้องกันไม่ให้โล่ห์นั้นถูกขโมย
แอรีสมีชายาอีกองค์หนึ่ง คือ อีรีส ซึ่งเป็นเทพีแห่งความแตกแยก และเป็นน้องสาวของพระองค์เอง มีโอรสด้วยกัน 2 องค์ คือ ไดมอส กับโฟบอส ซึ่งเป็นเทพแห่งความกลัว กับเทพห่งความสยดสยอง ส่วนโอรสอีกองค์หนึ่งของอีรีสที่ชื่อ เอตี เทพแห่งโทสะ นั้นเป็นโอรสของซูสผู้เป็นเทพบิดา  

เฮเฟตัส (Hephaestus) เทพแห่งไฟและการช่าง

เฮเฟตัสเป็นเทพบุตรของมหาเทพซูสกับพระมเหสีเฮร่า แต่เมื่อดูจากเหตุกำเนิดก็อาจจะกล่าวได้ว่าเฮเฟตัสนั้นเป็นเทพบุตรแห่งพระนางเฮร่าเพียงองค์เดียวก็ได้ เหตุนั้นมาจากเมื่อซูสเทพบิดรให้กำเนิดเทพีอาธีน่าโดยการผ่าออกมาจากศีรษะ พระนางเฮร่าก็มีทิฏฐิ พระนางจึงให้กำเนิดเฮเฟตัสโดยให้ออกมาจากหัวบ้างโดยไม่ต้องพึ่งพาซูสผู้เป็นพระสวามี
 
เฮเฟตัสนั้นเป็นเทพติดแม่ เมื่อเทพีเฮร่ากับซูสจอมเทพทะเลาะกันเมื่อใด เฮเฟตัสเป็นต้องเข้าข้างพระนางเฮร่าทุกคราวไป ซูสจึงไม่ค่อยชอบใจเฮเฟตัสนัก
เมื่อคราวที่พระนางเฮร่านำกบฏจะโค่นอำนาจซูสแต่แผนนั้นล้มเหลว ซูสลงโทษพระนางโดยการใช้เชือกเงินผูกขาและจับพระนางเฮร่าห้อยหัวแขวนไว้กับสวรรค์ เฮเฟตัสก็เข้าช่วยเหลือเทพมารดาเช่นเดิม ทำให้ซูสโกรธและจับเฮเฟตัสโยนลงมาจากสวรรค์
เฮเฟตัสตกจากสวรรค์ถึง 9 วันกว่าจะถึงพื้นโลก ด้วยความสูงเช่นนี้ทำให้เฮเฟตัสขาหัก กลายเป็นเทพพิการตั้งแต่บัดนั้น
เฮเฟตัสสร้างวังอาศัยอยู่บนโลกมนุษย์ตั้งใจจะไม่กลับไปอยู่บนสวรรค์โอลิมปัสอีก และด้วยความชำนาญในการช่าง เฮเฟตัสจึงตั้งโรงงานผลิตอาวุธต่างๆ ตามที่ตนถนัดอยู่บนโลกมนุษย์โดยมีพวกยักษ์ไซคลอปส์ซึ่งมีฝีมือในการช่างเช่นกันเป็นลูกมือ
แม้จะไม่ตั้งใจกลับสวรรค์แต่เทพเฮเฟตัสก็ตั้งความหวังว่าพระนางเฮร่าเทพมารดาจะลงมาเยี่ยมบ้าง แต่รอแล้วรอเล่าเทพมารดาก็ไม่ลงมาหา ด้วยความน้อยใจเฮเฟตัสจึงสร้างบัลลังก์ทองคำที่สวยงามหาที่ติมิได้ส่งไปถวายเทพมารดา แต่เมื่อเทพมารดานั่งลง บัลลังก์ทองนั้นก็มีกลไกมายึดองค์ไว้อย่างมั่นคง ไม่สามารถขยับเขยื้อนได้
เฮอร์มีส เทพผู้เป็นเลิศทางการทูตอาสาลงมาเจรจากับเฮเฟตัส แต่ไม่ว่าจะพูดจูงใจด้วยด้วยคำอย่างไรเฮเฟตัสก็ไม่ยอมปล่อยเทพมารดา
ทวยเทพจึงประชุมปรึกษากันอีกวาระหนึ่ง และเห็นชอบให้ไดโอนีซุสลงมาเกลี้ยกล่อมเฮเฟตัส ไดโอนีซุสเกลี้ยกล่อมเฮเฟตัสด้วยเหล้าองุ่นจนเฮเฟตัสเคลิบเคลิ้มมึนเมาจึงสามารถพาตัวเฮเฟตัสขึ้นไปแก้เครื่องกลพันธนาการให้เทพมารดาได้สำเร็จ
จากนั้นไดโอนีซุสก็เกลี้ยกล่อมเทพบิดร เทพมารดา และเทพบุตร ให้กลับมาออมชอมกันได้ดังเดิม
แต่แม้จะได้การยอมรับให้กลับไปอยู่เขาโอลิมปัสดังเดิม แต่เฮเฟตัสก็ยังยินดีอยู่บนโลกมนุษย์ จะขึ้นสวรรค์ไปก็ต่อเมื่อมีการประชุมเทพสภาเท่านั้น
คลิ๊ก..เพื่อดูภาพขนาดใหญ่ จาก www.wga.hu 
 
เฮเฟตัสเทพผู้พิการ แต่กลับมีชายาที่แสนสวย เพราะชายาของเฮเฟตัสนั้นคือ อะโฟรไดต์ (Aphrodite) แต่เพราะความสง่างามที่ไม่เสมอกัน อะโฟรไดต์จึงมักนอกใจเฮเฟตัสไปกับเทพบุตรรูปงามอื่นๆ อีกหลายองค์  

อะโฟรไดต์ (Aphrodite) เทพีแห่งความงามและความรัก

เทพีแห่งความงาม ความรัก และราคะ
กล่าวกันว่า อะโฟรไดต์ เป็นเทพธิดาที่มีความงาม 1 ใน 3 ของเทพธิดาที่งามที่สุดบนสรวงสวรรค์ คือ อะโฟรไดต์ เฮร่า และอาธีน่า
เฮร่านั้นเป็นมเหสีของมหาเทพซูส เป็นเทพมารดา และเป็นเทพแห่งการแต่งงาน เป็นเทพีขี้หึงเนื่องจากต้องคอยไล่ตามมหาเทพซูสที่แอบไปมีชายาลับจำนวนมาก
อาธีน่า เป็นธิดาของมหาเทพซูส เป็นเทพีแห่งสติปัญญา มักจะอยู่เคียงข้างมหาเทพซูสเพื่อให้คำแนะนำต่างๆ
 
ส่วนอะโฟรไดต์ เป็นเทพีที่เกิดจากฟองคลื่น เป็นเทพธิดาแห่งความงาม ความรักและราคะ มีนิสัยชอบช่วยเหลือผู้ที่มีความรัก แต่บ่อยครั้งก็จะซ้ำเติมและลงโทษให้ผู้มีความรักต้องระทมทุกข์หนักเพราะความรักมากยิ่งขึ้นไปอีก
กำเนิดอะโฟรไดต์นั้นมีหลายตำนาน ตำนานที่สอดคล้องกับชื่อที่แปลว่าฟองคลื่นนั้นต้องนับเวลาย้อนหลังไปครั้งที่อูรานอสถูกโค่นอำนาจ
เมื่อโครนอสได้รับความช่วยเหลือจากจอมมารดาไกอาปลดปล่อยจากตรุนรกทาร์ทะรัสและมอบเคียวให้เป็นอาวุธ โครนอสก็ย้อนกลับมาต่อสู้กับจอมบิดาอูรานอส และเอาชนะอูรานอสได้ โครนอสใช้เคียวตัดอัณฑะอูรานอสโยนขว้างทิ้งลงทะเลแถวเกาะไซเธอรา ทำให้เกิดฟองคลื่นขาวจำนวนมากในทะเล และเทพีอะโฟรไดต์ก็ได้ถือกำเนิดอยู่ในฟองคลื่นนั้น
เทพลมทิศใต้ได้พัดพาฟองคลื่นนี้ไปขึ้นเกาะไซปรัส
บางทีจึงเรียกเทพีอะโฟรไดต์ว่าไซเธอเรีย (Cytherea) หรือ ไซเพรียน (Cyprian) ตามชื่อเกาะ

เมื่อขึ้นเกาะไซปรัสแล้วเทพแห่งฤดูกาลได้นำอาภรณ์สวยงามมาให้อะโฟรไดต์ทีใส่ หาต่างหูและมงกุฎทองคำมาให้ และพาอะโฟรไดต์ขึ้นเขาโอลิมปัส การปรากฎกายบนสวรรค์เป็นครั้งแรกนี้เทพบุตรทั้งหลายต่างก็พากันหลงเสน่ห์ความงามของอะโฟรไดต์และต่างอยากได้นางไว้เป็นชายากันถ้วนหน้า รวมทั้งมหาเทพซูสด้วย แต่ซูสก็เล็งเห็นว่าสวรรค์คงจะปั่นป่วนเพราะเทพบุตรทั้งหลายคงจะต่อสู้กันเพื่อชิงกันเป็นเจ้าของอะโฟรไดต์เป็นแน่ ซูสจึงรีบประทานนางให้แก่เทพการช่างขาพิการ เฮเฟตัส โดยอ้างว่าเป็นรางวัลที่เฮเฟตัสสร้างและตกแต่งสวรรค์โอลิมปัสให้สวยงาม



เฮเฟตัสผู้โชคดีพยายามเอาอกเอาใจเทพธิดาแสนสวยผู้เป็นชายาโดยการประดิษฐ์เข็มขัดที่เมื่อสวมใส่เมื่อไรจะทำให้อะโฟรไดต์มีเสน่ห์ตรึงใจมากขึ้นจนผู้พบเห็นไม่อาจหักห้ามใจรักได้
อะโฟรไดต์นั้นคงทนอยู่กับเฮเฟตัสเทพสวามีผู้อัปลักษณ์เนื้อตัวดำเพราะทำงานถลุงเหล็กทั้งวันไม่ได้ เธอจึงแยกที่หลับที่นอนมาอยู่ตามลำพังบนโอลิมปัส ปล่อยให้เฮเฟตัสทำงานหนักเหมือนกรรมกรอยู่ในโรงงานบนโลกมนุษย์ตามลำพัง
ต่อมา อะโฟรไดต์ก็ก่อเรื่องอื้อฉาวโดยการเป็นชู้กับแอรีสเทพแห่งสงครามจนเกิดเสียงซุบซิบร่ำลือไปทั้งสวรรค์ ทำให้เฮเฟตัสประดิษฐ์ตาข่ายวิเศษเอาไว้เพื่อมัดตัวทั้งคู่ จนวันหนึ่งอะโฟรไดต์และแอรีสเผลอหลับนอนด้วยกันและตื่นไม่ทันก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เทพอพอลโลมองเห็นจึงบอกให้เฮเฟตัสรู้ เฮเฟตัสจึงนำตาข่ายมามัดตัวคู่ชู้ทั้งสองไว้ได้ในสภาพเปลือยเปล่า และพามาให้เทพสภาตัดสินคดี แต่เทพสภากลับตัดสินให้อะโฟรไดต์กับแอรีสไม่มีความผิด เนื่องจากพ่ายแพ้ต่อมนต์อำนาจของเข็มขัดที่เฮเฟตัสทำให้อะโฟรไดต์สวมใส่นั่นเอง
อะโฟรไดต์มีเทพบุตรและเทพธิดากับแอรีส 3 คน คือ นางเฮอร์ไมโอนี อีรอส และแอนติรอส
นอกจากแอรีสแล้วอะโฟรไดต์ก็ยังแอบไปมีสัมพันธ์สวาทกับเทพองค์อื่นๆ อีก คือ ไดโอนีซุส เฮอร์มีส และโพไซดอน และมีโอรสกับไดโอนีซุสชื่อเพรียปัส มีโอรสกับเฮอร์มีสชื่อเฮอร์มาโฟรไดทัสซึ่งเป็นเทพกระเทย และมีโอรสกับโพไซดอนชื่อโรดัสกับฮีโรฟิลัส
นอกจากนี้อะโฟรไดต์ยังมีชู้รักเป็นมนุษย์อีก 2 คน คือ อโดนิส (Adonis) กับแอนไคซีส (Anchises)
เรื่องราวความรักที่อะโฟรไดต์มีต่อหนุ่มอโดนิสนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากวันหนึ่งอะโฟรไดต์เดินหยอกเล่นอยู่กับกามเทพอีรอสผู้เป็นเทพบุตรอยู่ในป่า บังเอิญถูกศรซึ่งอีรอสถืออยู่สะกิดเอาที่อก ด้วยอำนาจของศรรักทำให้อะโฟรไดต์หลงรัก อโดนิส หนุ่มนักล่าสัตว์ที่ผ่านมาพอดี



แต่ความรักกับหนุ่มอโดนิสนั้นมีปัญหาต้องแย่งชิงกับเทพีเพอร์ซีโฟเน่ชายาของฮาเดสเทพโลกันต์ ศึกชิงหนุ่มของสองเทพีล่วงรู้ไปถึงมหาเทพซูส มหาเทพจึงตัดสินให้อโดนิสอยู่กับเพอร์ซีโฟเน่ 4 เดือน อยู่กับอะโฟรไดต์ที 4 เดือน และอีก 4 เดือนให้อโดนิสเลือกอยู่กับใครก็ได้
ซึ่งอโดนิสก็เลือกที่จะอยู่กับอะโฟรไดต์
อะโฟรไดต์ลงมาจากสวรรค์เพื่อติดตามใกล้ชิดอโดนิส คอยแนะนำตักเตือนอโดนิสให้ระวังอันตรายเวลาเข้าป่าล่าสัตว์ แต่วันหนึ่งอะโฟรไดต์มีธุระต้องจากอโดนิสไป ระหว่างที่อโดนิสเข้าป่าล่าสัตว์ตามลำพัง แอรีสที่คอยตามมาหึงหวงอะโฟรไดต์ชู้รักอยู่ก็แปลงกายเป็นหมูป่ามาขวิดอโดนิสถึงแก่ความตาย
อะโฟรไดต์กลับมาพบร่างหนุ่มสุดที่รักตายจากไปก็เศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก หยาดน้ำตาของเทพีแห่งความงามหยดลงต้องหยดเลือดสีแดงของอโดนิส ก่อให้เกิดดอกไม้ที่เป็นอนุสรณ์แห่งความรัก เรียกว่า ดอกอโดนิส
อะโฟรไดต์เป็นชู้กับมนุษย์อีกคนเป็นกษัตริย์ชื่อ แอนไคซีส แต่เพราะแอนไคซิสเมาจึงเผลอปากเปิดเผยความสัมพันธ์ของเขาซึ่งเป็นมนุษย์กับเทพีสวรรค์ มหาเทพซูสจึงขว้างสายฟ้ามาลงโทษ โชคดีที่อะโฟรไดทีเอาเข็มขัดรับสายฟ้านั้นไว้ได้ แต่แอนไคซีสก็ตกใจจนไม่สามารถลุกขึ้นยืนได้อีกเลย
อะโฟรไดต์มีโอรสกับแอนไคซีส มีร่างเป็นครึ่งเทพครึ่งมนุษย์นามว่า อีเนียส (Aenias) ซึ่งต่อมาได้ไปเข้าร่วมสงครามกรุงทรอย และย้ายไปอยู่อิตาลี เป็นต้นตระกูลของชาวโรมัน
อะโฟรไดต์นั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากในสงครามกรุงทรอย เนื่องจากเมื่อมีการแย่งชิงตำแหน่งเทพีที่สวยที่สุดในสวรรค์ระหว่างอะโฟรไดต์ เฮร่า และอาธีน่า มหาเทพซูสไม่อาจตัดสินให้ใครชนะได้เนื่องจากคนหนึ่งเป็นมเหสี คนหนึ่งเป็นธิดา และอีกคนหนึ่งเป็นลูกสะไภ้ มหาเทพจึงแนะให้สามเทพีไปหาเด็กเลี้ยงแกะชื่อปารีสให้เป็นผู้ตัดสิน



อะโฟรไดต์แอบให้สินบนปารีสว่าหากตัดสินให้เธอเป็นผู้มีความงามมากที่สุด เธอจะบันดาลให้ปารีสได้สาวงามที่สุดในปฐพีเป็นภรรยา จะด้วยสินบนหรือด้วยความงามที่แท้จริงไม่อาจรู้ได้ ในที่สุดปารีสก็ตัดสินให้อะโฟรไดต์เป็นเทพธิดาที่งามที่สุดบนสวรรค์
อะโฟรไดต์จึงบันดาลให้ปารีสไปลักพาตัวพระนางเฮเลนแห่งสปาร์ตาซึ่งเป็นผู้หญิงงามที่สุดบนปฐพีมาเป็นคู่ครองจนได้ แต่การลักพาพระนางเฮเลนมาอยู่ที่กรุงทรอยของปารีสในครั้งนี้ก่อให้เกิดมหาสงครามกรุงทรอยที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมายเนื่องจากทางพระสวามีของพระนางเฮเลนและชาวสปาร์ตาไม่ยอม จึงยกทัพมาแย่งชิงพระนางเฮเลนคืน
อะโฟรไดต์เคยออกแรงช่วยให้ความรักของฮิปโปเมนิสกับอตาลันต้าสมหวัง แต่ท้ายสุดเมื่อโกรธขึ้นมาพระนางกลับลงโทษคู่รักทั้งสองอย่างหนัก
เรื่องราวมีอยู่ว่า อตาลันต้าเป็นพรานสาวแสนสวยที่มีชายหนุ่มมาหลงรักเธอมากมาย อตาลันต้าจึงตั้งกติกาว่าหากชายใดคิดจะเป็นคู่ครองกับเธอ เขาจะต้องประลองกำลังกับเธอโดยการวิ่งแข่งกัน ถ้าเธอแพ้จะยอมแต่งงานด้วย แต่หากเธอชนะชายคนนั้นจะต้องตาย ซึ่งก็มีชายหนุ่มมากมายต้องมาจบชีวิตเพราะวิ่งพ่ายแพ้เธอ
ฮิปโปเมนิส เหลนคนหนึ่งของโพไซดอนได้รับคำขอร้องจากผู้เข้าแข่งขันให้มาช่วยเป็นกรรมการตัดสิน ซึ่งฮิปโปเมนิสก็รู้สึกสมเพชชายหนุ่มเหล่านั้นที่ถึงกับยอมตายเพื่อผู้หญิงคนเดียว แต่เมื่อฮิปโปเมนิสเห็นหน้าอตาลันต้าเขาก็กลับหลงรักอตาลันต้าด้วยอีกคน
เมื่อผู้แข่งขันพ่ายแพ้ต่ออตาลันต้าหมดแล้ว ฮิปโปเมนิสก็ขอแข่งกับอตาลันต้าบ้าง
ฮิปโปเมนิสแอบขอพรอะโฟรไดต์ให้ช่วยเหลือเขาในการแข่งขัน อะโฟรไดต์จึงมอบผลแอปเปิ้ลทองคำให้แก่เขาจำนวน 3 ผลและบอกอุบายการใช้ให้
ฮิปโปเมนิสไม่อาจวิ่งชนะอตาลันต้าได้ เขาจึงโยนแอปเปิ้ลผลหนึ่งลงตรงหน้า อตาลันต้าก้มลงเก็บทำให้ฮิปโปเมนิสวิ่งแซงขึ้นหน้าไปได้
เมื่ออตาลันต้าวิ่งกลับขึ้นมาแซงหน้า ฮิปโปเมนิสก็โยนแอปเปิ้ลทองคำผลที่สองตรงหน้าอตาลันต้าอีก อตาลันต้าก็เสียเวลาก้มลงเก็บทำให้ฮิปโปเมนิสวิ่งกลับมาแซงขึ้นหน้าได้อีก
แต่สุดท้ายอตาลันต้าก็กลับมาแซงฮิปโปเมนิสและทำท่าว่าจะเป็นผู้ชนะ ฮิปโปเมนิสก็โยนแอปเปิ้ลทองคำผลที่สาม ซึ่งคราวนี้อตาลันต้าต้องเสียเวลานานเนื่องจากมือทั้งสองนั้นถือแอปเปิ้ลทองคำอยู่แล้วข้างละผล ระหว่างเสียเวลาก้มลงเก็บผลแอปเปิ้ลทองคำผลที่สามฮิปโปเมนิสก็วิ่งเข้าเส้นชัยไปแล้ว
ฮิปโปเมนิสดีอกดีใจ และได้แต่งงานกับอตาลันต้า แต่เขาลืมขอบคุณเทพีอะโฟรไดต์ที่ช่วยเหลือ อะโฟรไดต์โกรธมากจึงสาปให้ทั้งฮิปโปเมนิสกับอตาลันต้ากลายเป็นสิงโตไป  

อาธีน่า (Athena) เทพีแห่งสติปัญญาและสงคราม

ในคณะเทพแห่งโอลิมเปียนส์นั้นมีเทพีพรหมจารีอยู่ 3 องค์ คือ เทพีเฮสเทีย (Hestia) เทพีอาธีน่า (Athena) และเทพีอาร์ทีมิส (Artemis) องค์แรกเป็นพี่สาวของซูสมหาเทพ ส่วนสององค์หลังเป็นธิดา
ย้อนกลับไปสมัยที่ซูสโค่นบัลลังก์โครนอสเทพบิดาลงได้ และได้ขอให้มีทิสเทพีแห่งปัญญาผู้เป็นธิดาของเทพไททันโอเชียนัสกับทีธิสช่วยทำยาสำรอกบังคับให้โครนอสกลืนกินเพื่อคลายบรรดาพี่ๆ ของซูสออกมาจากท้องได้สำเร็จ จากนั้นซูสก็ได้มีทิสเป็นชายาองค์แรก
 
แต่เมื่อมีทิสตั้งครรภ์ จอมมารดาไกอาก็พยากรณ์ว่าโอรสของซูสที่เกิดจากมีทิสจะเป็นผู้โค่นบัลลังก์ของซูสดุจเดียวกับที่ซูสเคยโค่นบัลลังก์ของโครนอส
ซูสกลัวคำพยากรณ์นั้นจึงได้กลืนมิทิสผู้เป็นชายาลงท้องไป และเนื่องจากมีทิสเป็นเทพีครองปัญญา เมื่อไปอยู่ในท้องซูสแล้วก็ได้คอยให้คำแนะนำต่างๆ แก่ซูสจากในท้องนั้นเอง
กาลเวลาผ่านมา วันหนึ่งซูสก็ปวดเศียรอย่างรุนแรง พระองค์จึงเรียกประชุมเทพสภาเพื่อหาทางรักษาอาการปวดนั้น แต่ไม่มีเทพหรือเทพีองค์ใดรักษาอาการนี้ให้ได้ ซูสจึงตัดสินใจให้เทพองค์หนึ่งช่วยผ่าพระเศียรให้
ยังไม่ทันที่รอยแผลบนพระเศียรของจอมเทพที่เกิดจากขวานจามจะแยกออกจากกันดี ก็ปรากฎร่างเทพีองค์หนึ่งผุดออกมาจากพระเศียรของจอมเทพ เทพีองค์นั้นแต่งกายสวมเกราะแวววาว มือถือหอกและโล่ห์ ลักษณะพร้อมออกศึก กล่าววาจาประกาศชัยชนะก้องกัมปนาทท่ามกลางความสั่นสะเทือนและเสียงอึกทึกของพสุธาและมหาสมุทร
เทพีที่กำเนิดขึ้นองค์นี้คือเทพีอาธีน่า เป็นเทพีแห่งการศึก
และขณะที่เทพีอาธีน่าปรากฎกายขึ้นนั้น ความโฉดเขลาทั้งหลายที่ไม่ปรากฎรูปก็หลีกหนีไปจนหมดสิ้น เทพีอาธีน่าจึงเป็นเทพีครองปัญญาด้วยอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งปัญญาแห่งอาธีน่านั้นคงจะได้รับถ่ายทอดมาจากมีทิสผู้เป็นเทพมารดานั่นเอง
ภายหลังการอุบัติของเทพีอาธีน่าไม่นาน หัวหน้าชนชาวฟีนิเชียชื่อ ซีครอบส์ (Cecrop) ก็ได้พาบริวารอพยพเข้าไปในดินแดนประเทศกรีซ และได้ตั้งบ้านเรือนขึ้นที่แคว้น อัตติกา (Attica) นครใหม่แห่งนี้มีความสวยงามเป็นอันมาก จนเทพและเทพีทั้งหลายต่างอยากจะให้ชื่อของตนได้เป็นนามของนครแห่งนี้
เทพและเทพีต่างถกเถียงกันในเทพสภาว่าใครควรจะได้สิทธิ์ในการใช้ชื่อของตนเองเป็นชื่อของนครแห่งนี้ หลังจากถกเถียงกันเนิ่นนาน เทพและเทพีต่างก็ยอมสละสิทธิ์ เหลือเพียงอาธีน่าและโพไซดอนเพียงสององค์ที่ไม่ยอมกัน
 
เพื่อป้องกันปัญหาลุกลามใหญ่โต มหาเทพซูสจึงให้โพไซดอนและเทพีอาธีน่าเนรมิตสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้นครใหม่ หากเทพสภาเห็นว่าสิ่งเนรมิตของใครมีประโยชน์มากกว่า เทพผู้เนรมิตก็จะเป็นผู้ได้รับชัยชนะ
โพไซดอนเนรมิตน้ำทะเลให้พวยพุ่งเป็นน้ำพุเป็นที่น่าอัศจรรย์แก่ชาวเมือง ส่วนเทพีอาธีน่าเนรมิตเพียงต้นมะกอกต้นเดียว
เหล่าเทพและเทพีต่างโต้เถียงกันว่าระหว่างน้ำพุกับต้นมะกอก อย่างไหนจะให้ประโยชน์แก่ชาวเมืองมากกว่ากัน
ฝ่ายที่เข้าข้างโพไซดอนก็ว่าน้ำพุนั้นมีประโยชน์กว่า อีกทั้งน่าอัศจรรย์ในความสวยงามและความแรงของสายน้ำ ไม่เหมือนต้นมะกอกที่ไม่เห็นมีค่าอันใด
ส่วยฝ่ายที่เข้าข้างเทพีอาธีน่าก็แย้งว่าน้ำพุนั้นสวยงามก็จริง แต่มีรสเค็ม ไม่อาจสร้างประโยชน์อันใดได้ ส่วนต้นมะกอกนั้นมีประโยชน์ทั้งผลที่กินได้ ให้น้ำมัน และกิ่งก้านใช้ทำฟืนในฤดูหนาว
ผลการตัดสินของเหล่าเทพบุตรและเทพธิดาปรากฎว่าเทพบุตรเลือกน้ำพุของโพไซดอน ส่วนเทพธิดาเลือกต้นมะกอกของเทพีอาธีน่า และเนื่องจากเทพธิดามีจำนวนมากกว่าเทพบุตรอยู่ 1 องค์ ต้นมะกอกของเทพีอาธีน่าจึงชนะการแข่งขัน
เทพีอาธีน่าตั้งชื่อเมืองใหม่นั้นว่ากรุงเอเธนส์ และต้นมะกอกก็กลายเป็นสัญญลักษณ์แห่งกรุงเอเธนส์นับแต่นั้นมา
คลิ๊ก..เพื่อดูภาพขนาดใหญ่ จาก www.wga.hu 
 
เทพีอาธีน่านั้นมีฝีมือในเรื่องการถักทอยิ่งนัก ยากที่มนุษย์ เทพ หรือเทพีองค์ใดจะเทียบได้ แต่ก็มีดรุณีน้อยนางหนึ่งที่บังอาจคิดทาบรัศมี
ดรุณีน้อยผู้มีรูปโฉมสะคราญตาผู้นั้นชื่อว่า อารัคนี (Arachne) เธอมีฝีมือในการปั่นด้ายและทอผ้าอันน่าพิศวง และด้วยความหลงทนงในฝีมือทอผ้าของตน นางถึงกับบังอาจเปรียบเทียบว่าแม้เทพีอาธีน่าลงมาแข่งด้วยก็อาจพ่ายแพ้นาง
อารัคนีโอ้อวดฝีมือตนเองอยู่เนืองๆ จนเทพีอาธีน่ารำคาญ ต้องลงมาจากสวรรค์เพื่อลงโทษนางมนุษย์ผู้นี้เพื่อไม่ให้ใครอื่นบังอาจดูถูกวงศ์เทพอีก
 
เทพีอาธีน่าจำแลงองค์เป็นหญิงชรา เดินเข้าไปในบ้านของอารัคนี และชวนเธอคุย ชั่วประเดี๋ยวเดียวนางอารัคนีก็เริ่มคุยถึงฝีมือทอผ้าของตน และคุยข่มว่าฝีมือนางนั้นเหนือกว่าเทพีอาธีน่า
เทพีอาธีน่าในร่างของหญิงชรากล่าวเตือนนางไม่ให้ล่วงเกินเทพเจ้า แต่อารัคนีไม่สนใจ ยังกล่าวท้าทายให้เทพีอาธีน่าปรากฎกายมาเพื่อแข่งขันกัน
เทพีอาธีน่าจึงกลับคืนร่างและรับคำท้าของนาง
เทพีและนางมนุษย์ผู้โอหัง ต่างจัดแจงตั้งหูก และต่างฝ่ายต่างทอลายผ้าอันงามวิจิตรขึ้น เทพีอาธีน่าทอเป็นลวดลายเนื้อเรื่องตอนที่แข่งกับเทพโพไซดอนเพื่อตั้งชื่อกรุงเอเธนส์ ส่วนอารัคนีทอลายเป็นเรื่องซูสลักพานางยูโรปา
ครั้นทอเสร็จ ต่างฝ่ายต่างเอาลายผ้ามาเทียบเคียงกัน สาวเจ้าอารัคนีรู้ทันทีว่าผ้าทอของนางแพ้หลุดลุ่ย ลายรูปโคโลดแล่นลุยไปในทะเลที่มีคลื่นซัดสาดเป็นฟองมีนางยูโรปาเกาะเขาอยู่ ไม่อาจเทียบได้กับลายรูปเหล่าเทพที่เหมือนมีชีวิตของเทพีอาธีน่าได้
อารัคนีทั้งเจ็บทั้งอาย จึงเอาเชือกมาผูกคอหมายจะฆ่าตัวตาย เทพีอาธีน่าจึงรีบเปลี่ยนร่างของนางให้กลายเป็นแมงมุมและสาปแช่งนางให้ต้องปั่นและทอใยเรื่อยไปไม่มีเวลาหยุด เป็นการเตือนมนุษย์ผู้ทรนงไม่ให้หลงยกตนขึ้นเทียมเหล่าเทพอีก
เรื่องราวความรักของเทพีอาธีน่านั้นมีน้อย เนื่องจากพระนางเป็นเทพีครองความบริสุทธิ์ จะมีก็เพียงครั้งหนึ่งที่เทพการช่างเฮเฟตัสมาสู่ขอเทพีอาธีน่าต่อมหาเทพซูส มหาเทพประทานอนุญาต แต่บอกให้เฮเฟตัสไปทาบทามถามความสมัครใจจากเทพีอาธีน่าเอาเอง
เฮเฟตัสไปพูดขอเทพีอาธีน่าแต่งงาน แต่พระนางไม่ยินดีด้วย เทพเฮเฟตัสจึงตรงเข้าไล่ปลุกปล้ำนาง ระหว่างนั้นเฮเฟตัสได้ปล่อยของไม่บริสุทธิ์ให้ตกลงมายังพื้นโลก บังเกิดเป็นทารกขึ้นมาคนหนึ่งซึ่งเทพีอาธีน่าก็สงเคราะห์รับทารกนั้นไว้ บรรจุหีบให้งูเฝ้า และส่งมอบให้ธิดาสาวท้าวซีครอปส์ดูแลโดยห้ามเด็ดขาดมิให้เปิดหีบดู แต่ธิดาสาวท้าวซีครอปส์ไม่เชื่อฟัง พยายามจะเปิดหีบ ครั้นเห็นงูเข้าก็ตกใจวิ่งหนีจนตกเขาตาย
 
ทารกนั้นมีชื่อว่า อิริคโธเนียส (Erichthonius) ซึ่งต่อมาก็ได้ครองกรุงเอเธนส์
ส่วนเทพีอาธีน่านั้นก็ไม่ได้รับการเกี้ยวพานจากเทพองค์ใดอีกเลย
เทพีอาธีน่านั้นมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นที่ปรึกษาให้กับมหาเทพซูส พระนางทรงอยู่เคียงข้างเพื่อคอยให้คำแนะนำแก่ซูสเทพบิดาอยู่เกือบตลอดเวลา เมื่อครั้งที่ซูสตกใจเตลิดหนีอสูรร้ายไทฟอนไปนั้น ก็ได้เทพีอาธีน่าพูดเตือนสติจนซูสกลับมาต่อสู้กับไทฟอนจนได้รับชัยชนะ
ส่วนในโลกมนุษย์นั้น เทพีอาธีน่าก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือวีรบุรุษหลายคน คือ
ช่วยเฮอร์คิวลิสสทำงาน 12 อย่างตามคำสั่งของเทพีเฮร่า
ช่วยเพอร์ซีอุสสังหารนางอสูรเมดูซ่า
ช่วยโอดีสซีอุส ให้เดินทางกลับบ้านจากยุทธภูมิทรอยอย่างปลอดภัย
ช่วยเตเลมาคัสบุตรชายของโอดีสซีอุสให้ตามหาพ่อจนสำเร็จ
และในสงครามทรอยนั้นเทพีอาธีน่าก็เป็นต้นเหตุหนึ่งของมหาสงคราม เนื่องจากเป็นหนึ่งในสามเทพีที่แย่งชิงตำแหน่งเทพีที่งามที่สุดแห่งสรวงสวรรค์ และเมื่อเกิดสงครามกรุงทรอย เทพีอาธีน่าก็เข้าร่วมรบอยู่กับฝ่ายกองทัพกรีก  

อาร์เทมีส (Artemis) จันทราเทพีและเทพีแห่งการล่าสัตว์

ในคณะเทพโอลิมเปียนมีเทพีพรหมจารีอยู่ 3 องค์ ทรงนามตามลำดับว่า เฮสเทีย (Hestia) อาธีนา (Athene) อาร์เทมีส (Artemis) องค์แรกเป็นพี่สาวของจอมเทพ ส่วน 2 องค์หลังเป็นธิดา
สำหรับเทพีอาร์เทมีสนั้นเป็นเทพีแห่งการล่าสัตว์ เป็นที่เคารพของเหล่าพรานโดยเฉพาะ เป็นเทพีแห่งสัตว์ทั้งปวง สัตว์ที่เทพีอาร์เทมีสโปรดปรานเป็นพิเศษคือกวาง และเป็นเทพธิดาจันทรา
เทพีอาร์เทมีสเป็นเทพธิดาแฝดผู้พี่ของ เทพอพอลโล ซึ่งเป็นสุริยเทพ ทั้งสองเป็นธิดาและโอรสของมหาเทพซูสกับนางลีโต
 
นางลีโตนั้นเมื่อตั้งครรภ์ก็ประสบเคราะห์ร้าย เนื่องจากซูสไปเข้าพิธีอภิเษกกับเทพีเฮร่า แล้วพระนางเฮร่าก็เล่นบทเทพีขี้หึงไล่นางลีโตลงจากสวรรค์ และส่งงูร้ายไพธอนไล่ล่าจนนางลีโตต้องหนีซมซานจากแผ่นดินล่องลงไปในทะเล โชคดีที่โพไซดอนเนรมิตเกาะให้อยู่จึงรอดชีวิตมาได้
ตอนคลอดอาร์เทมีสนั้นก็ยากเย็นนักหนาจนลีโตแทบเอาชีวิตไม่รอดอีกครั้ง เหตุนี้ทำให้เทพีอาร์เทมีสรู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดของคนเป็นแม่ พระนางจึงเกลียดการวิวาห์ และขออนุญาตเทพบิดาไม่ขอมีคู่ครอง ขอเป็นเทพีรักษาพรหมจรรย์ตลอดไป นอกจากนั้นยังขอนางอัปสรโอเชียนัส 60 นาง กับนางอัปสรอื่นอีก 20 นาง ที่ไม่ยินดีในการวิวาห์ด้วยเช่นกันมาเป็นบริวาร ทั้งหมดพากันท่องเที่ยวอยู่ตามราวป่าอย่างสำราญใจ
ทุกวันยามพระอาทิตย์อัสดง เทพีอาร์เทมีสก็จะเริ่มทรงราชรถเทียมม้าขาวปลอดลากดวงจันทราข้ามห้วงนภาผ่านดวงดาวดารดาษยามค่ำคืน ระหว่างที่ท่องเที่ยวไปนั้นเทพีอาร์เทมีสก็จะคอยสอดส่องลงมายังโลกพิภพ ดูแลผืนป่า สัตว์ป่า และพรานไพร

 
คืนหนึ่ง ขณะที่เทพีอาร์เทมีสลอยล่องอยู่เหนือแคว้นแดนคอเรีย พระนางก็เห็นหนุ่มเลี้ยงแกะรูปงามชื่อ เอนดิเมียน (Endymion) นอนหลับอาบแสงจันทร์อยู่ริมเขา ความงามของเจ้าหนุ่มเมื่อต้องแสงจันทร์เป็นที่น่าพิสมัยแก่เทพีอาร์เทมีสยิ่งนัก พระนางอดใจไม่ได้ถึงกับหยุดราชรถและลงมาจุมพิตหนุ่มน้อยเบาๆ ก่อนจะลอยเลื่อนกลับไป
เอนดิเมียนกำลังเคลิ้มจิตอยู่ในภวังค์ ค่อยๆ ลืมเปลือกตาขึ้นอย่างช้าๆ เห็นเพียงภาพคลับคล้ายคลับคลาของเทพธิดาที่ไม่อาจปักใจได้ว่าเป็นเพียงความฝันหรือความจริง
คลิ๊ก..เพื่อดูภาพขนาดใหญ่ จาก www.wga.huแต่เอนดิเมียนก็ฝังใจกับความฝันนั้น เขาเที่ยวซอกซอนค้นหาเทพธิดาในฝันไปตามที่ต่างๆ ทั้งเขาสูง ทุ่งกว้าง และทะเลลึก
เรื่องราวล่วงรู้ไปถึงซูสมหาเทพ พระองค์ไม่ต้องการให้เกิดเรื่องอื้อฉาวแก่เทพีพรหมจารีผู้นี้ พระองค์จึงยื่นคำขาดแก่เอนดีเมียนว่าจะยอมตายด้วยวิธีหนึ่งตามแต่จะพึงประสงค์ หรือจะยอมนอนหลับโดยไม่ตื่นตลอดกาลในถ้ำบนยอดเขาแลตมัส
เอนดิเมียนเลือกเอาประการหลัง ซึ่ง ณ ที่นั้น เอนดิเมียนยังคงนอนหลับไหลอยู่ตลอดกาล โดยมีเทพีอาร์เทมีสแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนเขาอยู่ทุกค่ำคืน
อาร์เทมีสบางครั้งก็ทรงเป็นเทพีที่ดุร้าย อารมณ์โกรธของพระนางแม้เพียงเรื่องน้อยนิด พระนางก็อาจลงโทษผู้ที่ทำให้นางโกรธถึงแก่ชีวิตลงได้
ดังเช่นครั้งหนึ่ง เทพีอาร์เทมีสได้ออกป่าล่าสัตว์พร้อมนางอัปสรบริวาร เมื่อมาถึงสระน้ำที่ใสเย็นแห่งหนึ่ง เทพีอาร์เทมีสพร้อมบริวารก็เปลื้องภูษาทรง และลงสรงสนานในสระน้ำใสนั้นด้วยความเพลิดเพลินสำราญใจยิ่งนัก
ขณะนั้น มีนายพรานคนหนึ่งชื่อว่า แอคเตียน (Actaeon) กำลังออกป่าเที่ยวล่าสัตว์หาเนื้อตั้งแต่รุ่งอรุณ ตกถึงเวลาบ่ายแอคเตียนก็เหน็ดเหนื่อยโรยกำลังและกระหายน้ำ เขาจึงมุ่งหน้ามายังสระน้ำแห่งเดียวกันนั้น
เมื่อเข้าไปใกล้สระน้ำ แอคเตียนก็แว่วเสียงสตรีดังมาแต่ไกล เขาจึงแอบย่องเข้าไปดูจึงพบภาพเทพีอาร์เทมีสกำลังสรงน้ำกับนางอัปสรบริวารอยู่อย่างสำราญใจ
ฝ่าเทพีอาร์เทมีสได้ยินเสียงผิดปกติจึงเหลียวมาดู พระนางก็สบตาเข้ากับแอคเตียนนายพรานหนุ่ม ด้วยความโกรธ เทพีอาร์เทมีสจึงกอบน้ำด้วยอุ้งหัตถ์ซสาดเข้าไปที่ใบหน้าของแอคเตียนทันที
 
เมื่อหยดน้ำกระทบหน้า แอคเตียนก็ค่อยๆ กลายร่างไปเป็นกวาง ฝ่ายฝูงสุนัขล่าสัตว์ของเขา บัดนี้จำแอคเตียนผู้เป็นนายไม่ได้เสียแล้ว ต่างก็กระโจนเข้ารุมกัดจนแอคเตียนในร่างของกวางป่าตายอยู่ตรงนั้นนั่นเอง
อีกรายหนึ่งที่โดนโทษทัณฑ์ของเทพีอาร์เทมีส คือ อัดมีทัส (Admetus) ซึ่งลืมถวายเครื่องบูชาในวันแต่งงาน เทพีอาร์ทีมิสจึงลงโทษเขาโดยการบันดาลให้ห้องหอมีแต่งูพิษ
หรือรายของกษัตริย์ เอนีอัส (OeNeus) แห่งเมืองคาลีดอน พระองค์ลืมถวายพืชผลที่เก็บเกี่ยวจากไร่นาได้แด่เทพีอาร์เทมีสตามธรรมเนียม เทพีอาร์เทมีสจึงบันดาลให้โคป่าเข้าบุกดินแดนของพระองค์ และสังหารครอบครัวของพระองค์เสียวอดวาย
แม้จะเป็นเทพีครองพรหมจารี แต่เทพีอาร์เทมีสก็เคยมีความรักกับมนุษย์คนหนึ่งจนเรื่องราวเลยเถิดใหญ่โต
ชายหนุ่มคนนั้นเป็นนายพรานร่างกำยำ ชื่อว่า โอไรออน (Orion) เชื่อกันว่าเขาเป็นบุตรของโพไซดอนเจ้าสมุทร เนื่องจากเขาสามารถเดินลุยลงไปในทะเลลึกได้
วันหนึ่งขณะที่กำลังล่าสัตว์อยู่กลางป่า โอไรออนก็พบกับนางอัปสร 7 นาง เรียกว่า พลียาดีส (Pleiades) เขาเกิดหลงรักนางอัปสรทั้งเจ็ด จึงได้ติดตามนางอัปสรเหล่านั้นไป ขณะที่นางอัปสรก็หนีจนอ่อนกำลัง ในที่สุดนางอัปสรทั้งเจ็ดจึงเอ่ยปากขอให้เทพีอาร์เทมีสช่วย เทพีอาร์ทีมิสจึงช่วยแปลงร่างนางอัปสรทั้งเจ็ดให้กลายเป็นนกพิราบโบยบินขึ้นไปบนฟ้า และกลายเป็นหมู่ดาว พลียาดีส เปล่งประกายระยิบระยับอยู่กลางฟ้านั่นเอง
ฝ่ายโอไรออนต่อมาก็หลงรักนาง มิโรปี (Merope) ธิดาท้าว อีโนเปียน (Oenopion) เจ้าเกาะ ไคออส (Chios)
 
โอไรออนอุตส่าห์ล่าสัตว์ป่าเอาไปกำนัลแด่ธิดาสาวและพระบิดา แต่ท้าวอีโนเปียนก็ผลัดผ่อนเรื่อยมา โอไรออนจึงคิดจะฉุดนางมิโรปีด้วยกำลัง แต่ท้าวอีโนเปียนรู้ทันจึงจัดการมอมเหล้าโอไรออนจนตาบอด แล้วเอาไปทิ้งริมทะเล
โอไรออนเมื่อได้สติขึ้นมาพร้อมดวงตาที่บอดสนิท ไม่รู้จะไปแห่งหนใดได้ แต่อาศัยความรู้ของนายพรานฟังเสียงของ ค้อนของยักษ์ไซคลอปส์ในเกาะ เลมนอส (lemnos) จึงดั้นด้นไปจนถึงถ้ำตีเหล็กของยักษ์ ฝ่ายยักษ์ตนหนึ่งมีความสงสารจึงอาสาพาโอไรออนดุ่มเดินไปทางทิศตะวันออก ช่วยให้ได้พบกับเทพอพอลโล และอาศัยแสงสว่างรักษาดวงตาให้กลับคืนเป็นปกติมาได้
เมื่อดวงตาหายเป็นปกติแล้ว โอไรออนก็กลับไปล่าสัตว์อีก ตอนนี้เองเทพีอาร์เทมีสก็มาพบเขาเข้า และผูกสมัครรักใคร่กัน
เทพอพอลโลเห็นท่าไม่ชอบกลกับมิตรภาพของโอไรออนกับเทพีอาร์เทมีส และเกรงว่าเทพีอาร์เทมีสจะกลับสัตย์เรื่องการครองพรหมจรรย์ พระองค์จึงคิดอุบายทำให้มิตรภาพนั้นยุติลงอย่างเด็ดขาด
วันหนึ่งขณะที่โอไรออนเดินลุยน้ำอยู่กลางทะเลไกลลิบ เทพอพอลโลได้เรียกเทพีอาร์เทมีสมาลองฝีมือยิงธนูกัน โดยให้เทพีอาร์เทมีสลองยิงอะไรที่ลอยอยู่เหนือน้ำทะเลไกลๆ นั้นดูว่าจะถูกหรือไม่
ฝ่ายเทพีอาร์เทมีสไม่ได้เฉลียวใจว่าที่เห็นดำๆ นั้นแท้จริงคือหัวของโอไรออน พระนางจึงยิงธนูออกไป ลูกธนูถูกเป้าหมาย อย่างแม่นยำ
ครั้นคลื่นซัดพาร่างโอไรออนเข้ามาถึงฝั่ง เทพีอาร์เทมีสจึงรู้ว่าได้ทำอะไรลงไป พระนางเศร้าโศกเสียใจมาก จึงแปลงโอไรออนให้กลายเป็นกลุ่มดาว พร้อมด้วยสายรัดเอว ดาบ และกระบองคู่มือ อยู่ในท้องฟ้าต่อจากกลุ่มดาวพลียาดีส และแปลงสุนัขของเขาที่ชื่อซิริอัสให้กลายเป็นดาวซิริอัส อยู่ท้ายกลุ่มดาวโอไรออน ด้วยตั้งแต่บัดนั้นมา
นอกจากตนเองจะไม่ยอมวิวาห์แล้ว เทพีอาร์เทมีสยังบังคับไม่ให้นางอัปสรบริวารของตนวิวาห์ด้วย แต่นางอัปสรบริวารนางหนึ่งชื่อคัลลิสโต ก็ถูกมหาเทพซูสมาหลงรักและแปลงร่างเป็นเทพีอาร์เทมีสเข้าไปสมสู่กับนางได้ เมื่อนางตั้งท้อง เทพีอาร์เทมีสรู้เรื่องเข้าก็พิโรธหนัก และลงโทษนางโดยการเนรเทศนางออกไป เมื่อคัลลิสโตประสูติโอรสแล้วก็ถูกเคราะห์กรรมซ้ำ ถูกพระนางเฮร่าสาปให้กลายเป็นหมี  

วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

อพอลโล (Apollo) สุริยเทพและเทพแห่งการดนตรี

อพอลโล เป็นโอรสของนางลีโต กับซูส
เมื่อเทพีเฮร่ายินยอมอภิเษกสมรสกับซูสแล้ว ข่าวนางลีโตตั้งครรภ์กับซูสก็มาเข้าหู เทพีเฮร่าจึงแสดงบทเทพีขี้หึงขับไล่ลีโตลงจากสวรรค์ และส่งงู ไพธอน ตามไล่ล่า
ลีโตหนีหัวซุกหัวซุนจนสุดแผ่นดิน สุดท้ายก็ตัดสินใจหนีลงทะเลเพื่อให้พ้นจากงูร้าย บังเอิญเทพสมุทรโพไซดอนเห็นเข้าก็สงสาร จึงเนรมิตเกาะให้นางเป็นที่อยู่อาศัย ชื่อว่า เกาะดีลอส
ณ ที่นั้น ลีโตได้ให้กำเนิดโอรสและธิดาแฝด คือ อพอลโล เทพสุริยัน กับอาร์ทีมิส เทพธิดาจันทรา โดยอพอลโลนั้นเกิดก่อนอาร์ทีมิส 9 วัน
 
และหลังจากเทพอพอลโลประสูติได้ 4 วัน เขาก็สามารถฆ่างูร้ายไพธอนลงได้ ทำให้ลีโตปลอดภัยจากความขี้หึงของพระนางเฮร่าตั้งแต่บัดนั้น และอพอลโลก็ได้ชื่อว่า ไพธูส (Pytheus) ซึ่งแปลว่า "ผู้ประหารไพธอน" ด้วยอีกชื่อหนึ่ง
อพอลโลเป็นเทพที่มีรูปงามยิ่ง เป็นนักดนตรีผู้ขับกล่อมเทพทั้งปวงบนเขาโอลิมปัสด้วยพิณ เป็นเทพขมังธนู ที่สามารถยิงธนูได้ทั้งแม่นและไกล และเป็นเทพแห่งสัจธรรม
ชาวกรีกนับถือเทพอพอลโลมาก จึงมีวิหารที่บูชาเทพอพอลโลนจำนวนมาก แต่ที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ วิหารเดลฟี
ครั้งหนึ่ง เฮอร์คิวลิส ได้ไปขอคำพยากรณ์ที่วิหารเดลฟี แต่คำทำนายที่ได้รับไม่ถูกใจ เฮอร์คิวลิสจึงล้มโต๊ะพิธีและฉวยเอากระถางธูปไปด้วย เทพอพอลโลติดตามไปท้าเฮอร์คิวลิสเล่นมวยปล้ำเพื่อชิงเอากระถางธูปคืน แต่ปล้ำกันอยู่นานก็ไม่อาจรู้แพ้ชนะกันได้ จนซูสต้องเสด็จลงมาไกล่เกลี่ยให้เฮอร์คิวลิสคืนกระถางธูปไปเรื่องจึงยุติลงได้
เทพอพอลโลแม้จะเป็นเทพแห่งสัจธรรม แต่บางครั้งก็มีนิสัยดุร้ายดังเช่นที่เห็นจากกรณีของนางไนโอบี
เหตุเกิดเพราะนางลีโต มารดาของเทพอพอลโลกับเทพีอาร์ทีมิส ชอบคุยโอ้อวดในความงามและความเก่งกาจของเทพบุตรเทพธิดาทั้งสองอยู่เสมอ แต่ถูกนางไนโอบีมเหสีเจ้ากรุงธีบส์หัวเราะเยาะว่านางลีโตนั้นมีโอรสและธิดาเพียงแค่ 2 องค์ ไม่อาจสู้นางได้ที่มีโอรสและธิดาที่ทั้งรูปงามและฉลาดรวมถึง 14 องค์
 
นางไนโอบีกล่าววาจาสบประมาทนางลีโตเป็นอันมาก ซ้ำยังห้ามชาวเมืองทำการบูชาเทพอพอลโลและเทวีอาร์ทีมิส รวมทั้งสั่งให้ทำลายรูปเคารพเทพและเทพีคู่นี้จากแท่นที่บูชาด้วย
นางลีโตโกรธแค้นมากที่ถูกหยามถึงเพียงนี้ นางจึงเรียกเทพอพอลโลและเทพีอาร์ทีมิสมาและสั่งให้ทั้งสองไปฆ่าโอรสและธิดาของนางไนโอบีเสียให้สิ้นซาก
อพอลโลและอาร์ทีมิสนั้นโกรธแค้นอยู่แล้วที่รูปเคารพของตนถูกทำลาย ทั้งสองจึงออกตามฆ่าโอรสและธิดาของนางไนโอบีจนหมดสิ้น
เมื่อโอรสและธิดาสิ้นชีวิตลงหมด เจ้ากรุงธีบส์ก็เลยพลอยฆ่าตัวตายตามไปด้วย
นางไนโอบีสูญสิ้นทั้งสามีและโอรสธิดา ความโศกเศร้ารันทดประดังขึ้นมาจนร่างนางแข็งชาไปทั้งร่าง
ในที่สุดนางไนโอบีก็กลายเป็นหินร้องไห้อยู่บนเขาไซปิลัสจนถึงทุกวันนี้

 
อพอลโลนั้นเป็นเทพบุตรรูปงาม และเจ้าชู้ เรื่องราวความรักของพระองค์มีทั้งสมหวังและผิดหวัง มีทั้งที่พระองค์ไปหลงรักเขาข้างเดียว และที่ฝ่ายหญิงมาหลงรักพระองค์อยู่ข้างเดียวก็มี
ชายาองค์หนึ่งของอพอลโล คือ โครอนนิส (Coronis) ธิดาผู้เลอโฉมของเจ้าแคว้นเธสสะลี แต่นางโครอนนิสนั้นใจไม่ซื่อ เทพอพอลโลก็คงรู้ดีจึงได้ให้นกดุเหว่าขาวตัวหนึ่งเฝ้านางไว้
ด้วยความที่ใจไม่ซื่อ ระหว่างที่ตั้งครรภ์ นางโครอนนิสก็ยังอุตส่าห์แอบไปลักลอบคบชู้กับชายอื่น ดุเหว่าขาวจึงนำข่าวไปบอกให้อพอลโลทรงทราบ เทพอพอลโลบันดาลโทสะจึงบันดาลให้ขนของดุเหว่าขาวกลายเป็นสีดำสนิทตั้งแต่นั้น และพระองค์ก็ฆ่าโครอนนิสตาย
 
ระหว่างที่เผาศพโครอนนิส เทพเฮอร์มีสก็มาล้วงเอาทารกในครรภ์ของนางโครอนนิสออกมา และนำไปฝากให้ ไครอน (Chiron) ผู้เป็นเซนทอร์ (Centaur) เลี้ยงดู
โอรสองค์นี้ของเทพอพอลลอน ชื่อว่า เอสคิวเลปิอัส (Aesculapius) เป็นเด็กฉลาด เป็นที่รักของอาจารย์เซนทอร์เป็นอย่างยิ่ง อาจารย์จึงถ่ายทอดวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะวิชาการด้านการรักษาโรคให้จนหมดสิ้น
เอสคิวเลปิอัสมีความสามารถในการรักษาโรคได้เก่งกาจกว่าผู้เป็นอาจารย์มาก สามารถรักษาโรคร้ายต่างๆ ให้หายขาดได้ ชื่อเสียงของเอสคิวเลปิอัสจึงเลื่องลือไปไกล
แต่ครั้งหนึ่ง เอสคิวเลปิอัส ได้รักษาคนตายให้ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาได้ ซึ่งนับเป็นการท้าทายและบั่นทอนพลังอำนาจของเทพแห่งสรวงสวรรค์ ซูสจึงตัดสินใจประหารเอสคิวเลปิอัสด้วยอสนีบาตประจำองค์
เทพอพอลโลโกรธมากที่โอรสของตนต้องมาเสียชีวิต แต่ก็ไม่อาจบันดาลโทสะกับซูสผู้เป็นเทพบิดาได้ จึงหันไปไล่เบี้ยกับยักษ์ไซคลอปส์ผู้สร้างอาวุธสายฟ้านี้ขึ้นมา
อพอลโลน้าวธนูเงินหมายสังหารยักษ์ไซคลอปส์ให้สมแค้น จึงถูกซูสลงโทษโดยการเนรเทศอพอลโลให้ลงมาอยู่ทำงานรับใช้มนุษย์บนโลกเป็นเวลา 1 ปี
เทพอพอลโลลงมาเป็นคนเลี้ยงแกะอยู่ริมฝั่งน้ำแอมฟริซัส ให้กับท้าวแอดมีทัส แห่งกรุงเธสสะลี ซึ่งท้าวแอดมีทัสก็ได้มาฟังเทพอพอลโลดีดพิณที่แสนไพเราะเพราะพริ้งอยู่บ่อยๆ ในที่สุดจึงรู้ว่าชายเลี้ยงแกะคนนี้แท้จริงคือเทพอพอลโล
ท้าวแอดมีทัสนั้นหลงรักนางแอลเซสทิส ธิดาท้าวพีเลียสแห่งเมืองไอโอลคัส แต่ท้าวพีเลียสตั้งเงื่อนไขว่าท้าวแอดมีทัสต้องทรงรถศึกเทียมด้วยสิงห์กับหมูป่าไปรับนางแอลเซสทิสได้เท่านั้น พระองค์จึงจะยกธิดาให้ ซึ่งงานนี้เทพอพอลโลได้ให้ความช่วยเหลือ ท้าวแอดมีทัสจึงได้นางแอลเซสทิสมาเป็นมเหสีสมใจ
อยู่มาไม่นาน ท้าวแอดมีทัสเกิดล้มป่วยลงและทำท่าว่าใกล้จะสิ้นชีวิต เทพอพอลโลจึงขอร้องไม่ให้เทวีครองชะตากรรมตัดด้ายสายชีวิตของท้าวแอดมีทัส ซึ่งเทวีครองชะตากรรมก็ยินยอม โดยมีข้อแม้ว่าต้องมีใครยอมสละชีวิตแทนท้าวแอดมิสทัส
ในยามดีทุกคนก็บอกว่ายินดีสละชีวิตให้ได้ แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ กลับไม่มีใครยอมสละชีวิตให้ท้าวแอดมีทัสสักคน ยกเว้นนางแอลเซสทิสผู้เป็นมเหสี
ท้าวแอดมีทัสจึงหายประชวร ส่วนนางแอลเซสทิสกลับล้มป่วยร่อแร่ใกล้ตาย
โชคดีที่เฮอร์คิวลิสผู้เป็นสหายของท้าวแอดมีทัสเดินทางผ่านมาและรับรู้เรื่องราวนี้เข้า เฮอร์คิวลิสจึงเฝ้าคอยขัดขวางไม่ให้แธทานอสมัจจุราชมารับวิญญานของนางแอลเซสทิสไปได้ ซึ่งก็ทำได้สำเร็จ นางแอลเซสทิสจึงหายป่วย
เมื่อท้าวแอดมีทัสได้รับความสุขดีแล้ว เทพอพอลโลก็ได้เดินทางไปกรุงทรอย และไปช่วยเทพโพไซดอนสร้างกำแพงกรุงทรอย โดยการดีดพิณ ใช้เสียงเพลงช่วยเคลื่อนย้ายก้อนหินมาเรียงกันเป็นกำแพงเมือง งานนี้จึงสำเร็จไปได้อย่างรวดเร็ว
ครบกำหนด 1 ปี เทพอพอลโลก็กลับไปอยู่บนโอลิมปัสตามเดิม
ชายาอีกองค์หนึ่งของเทพอพอลโลเป็นนางอัปสร ชื่อ ไคลมินี (Clymene) ทั้งสองมีโอรสด้วยกันหนึ่งองค์ ชื่อว่า เฟอิทอน (Phaeton)
เฟอิทอนนั้นอยู่กับมารดา โดยไม่เคยเห็นหน้าบิดาเลย รู้เพียงว่าบิดาของตนคือเทพอพอลโล เขาจึงถูกเพื่อนหัวเราะเยาะอยู่เสมอ หาว่าแอบอ้างตนเป็นลูกของสุริยเทพ
วันหนึ่ง เฟอิทอนรบเร้าให้มารดาพาไปหาบิดาเพื่อพิสูจน์ว่าตนเป็นโอรสเทพอพอลโลจริง นางไคลมินีจึงบอกทางให้เฟอิทอนเดินทางไปทางทิศตะวันออกจนกว่าจะถึงวังที่ประทับของอพอลโล ณ ที่นั้นจะได้พบกับบิดาสมประสงค์
 
เฟอิทอนด้นดั้นเดินทางจนมาถึงวังของเทพอพอลโล ซึ่งเทพอพอลโลก็จำได้ว่าเป็นโอรสของตน หลังจากรับรู้ความคับแค้นของเฟอิทอนแล้ว เทพอพอลโลก็สาบานกับแม่น้ำสติกซ์ว่าจะช่วย
เฟอิทอนจึงขอเป็นผู้ขับราชรถลากพระอาทิตย์แทนบิดาในวันรุ่งขึ้นเพื่อให้มนุษย์และเทพทั้งหลายได้ประจักษ์ว่าเขาเป็นโอรสแห่งสุริยเทพอย่างแท้จริง
เทพอพอลโลบ่ายเบี่ยงขอให้เฟอิทอนขออย่างอื่น เพราะการขับราชรถลากพระอาทิตย์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะม้าเทียมรถทั้ง 4 นั้นพยศมาก เกรงว่าจะโกลาหลไปทั้งสวรรค์และโลกมนุษย์
แต่เฟอิทอนยืนกรานขอเป็นผู้ขับราชรถตามความตั้งใจเดิม
ด้วยเกรงกลัวต่อแม่น้ำสติกซ์ที่ได้ลั่นวาจาสาบานไปแล้ว เทพอพอลโลจำต้องยินยอมด้วยความไม่สบายใจ
เทพอพอลโลกำชับให้เฟอิทอนขับราชรถด้วยความระมัดระวังเรื่องการห้ามออกนอกเส้นทาง การรักษาความเร็ว และการรักษาระดับความสูงของราชรถไว้ ซึ่งเฟอิทอนก็ทำตามได้ในช่วงต้น แต่เมื่อขับไปสักพัก เขาก็เริ่มประมาท ลืมคำสั่งสอนของเทพบิดาเสียสิ้น
เฟอิทอนเริ่มขับราชรถออกนอกเส้นทาง ทำให้หมู่ดาวและเดือนพากันตกใจ และเมื่อขับราชรถมาใกล้โลกมนุษย์ ต้นไม้ใบหญ้าก็เหี่ยวเฉาไปตามๆ กันด้วยความร้อนจากดวงสุริยา
เฟอิทอนขับรถลงใกล้โลกมนุษย์มากขึ้น ทำให้แผ่นน้ำแห้งเหือด ต้นไม้แห้งตาย แม้ผิวกายมนุษย์ก็ถูกแผดเผาจนกลายเป็นสีดำ และดำจนมาถึงทุกวันนี้ ดินแดนที่เฟอิทอนขับราชรถลงมาใกล้ครั้งนี้คือแผ่นดินอาฟริกานั่นเอง
เฟอิทอนตกใจที่เห็นความวุ่นวายเกิดขึ้นกับโลก เขาจึงลงแส้ม้าชักราชรถให้ถอยห่างออกไป ม้าก็เผ่นโผนโจนทะยานเหออกห่างโลกเสียลิบลับ ทำให้พืชพันธ์ธัญญาหารที่เหลือรอดกลับเหี่ยวเฉาตายลงอีกเพราะความหนาวจัดฉับพลัน ทั้งแผ่นดินแผ่นน้ำตอนนั้นก็มีน้ำแข็งปกคลุมทั่วไปหมด เสียงผู้คนร้องระงมดังขึ้นทุกที จนในที่สุดก็ปลุกซูสมหาเทพให้ตื่นจากบรรทมเล็งทิพยเนตรสืบสวนหาสาเหตุ ครั้นได้ความว่าเหตุเกิดจากเฟอิทอนบังอาจขับราชรถสุริยเทพจนปั่นป่วนวุ่นวายเช่นนั้นก็พิโรธ คว้าอสนีบาตฟาดไปที่เฟอิทอนจนตกจากราชรถเสียชีวิตตกลงสู่แม่น้ำ อีริดานัส ในพริบตา
เฟอิทอนมีพี่สาวร่วมอุทร 3 คน เมื่อเฟอิทอนถึงแก่ความตาย นางทั้ง 3 ก็ไปร่ำไห้ที่ริมฝั่งแม่น้ำจนเทพทั้งปวงสงสารเลยแปลงนางเป็นต้นอำพันหลั่งน้ำตาออกมาเป็นอำพันตั้งแต่บัดนั้น
ฝ่ายเพื่อนเล่นคู่หูคนหนึ่งของเฟอิทอนชื่อ ซิกนัส (Cygnus) ก็ลงงมหาศพ ดำผุดดำว่ายในแม่น้ำจนกลายเป็นต้นตระกูลหงส์เล่นน้ำสืบเชื้อสายพงศ์พันธุ์มาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ส่วนเรื่องราวความรักที่ไม่สมหวังของเทพอพอลลอน เช่น เรื่องของพระองค์กับนางแดฟนี (Daphne)
นางแดฟนีเป็นนางอัปสรรูปงาม ธิดาของ พีนูส (Peneus) เทพประจำแม่น้ำ
เทพอพอลโลได้พบนางโดยบังเอิญกลางป่า พระองค์หมายจะได้นางเป็นชายาจึงเดินเข้าไปหา แต่นางแดฟนีกลับวิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิต ฝ่ายเทพอพอลโลก็วิ่งตามพลาง ส่งเสียงร้องเรียกไปพลาง แต่นางแดฟนีก็ไม่หยุดฟัง ยังคงวิ่งหนีต่อไป
นางแดฟนีวิ่งหนีจนอ่อนกำลังและตระหนักว่านางคงหนีไม่พ้นเทพอพอลลอนเป็นแน่ นางแดฟนีจึงวิ่งไปที่ริมแม่น้ำและร้องขอให้เทพบิดาพีลูสช่วย พีลูสจึงแปลงร่างของธิดาสาวให้กลายเป็นต้นชัยพฤกษ์อยู่ริมฝั่งน้ำนั่นเอง
นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องราวความรักที่มีสาวมาหลงรักเทพอพอลโลอยู่ข้างเดียว คือเรื่องของนาง ไคลที (Clytie)
ไคลที เป็นนางอัปสรประจำน่านน้ำ ธิดาของโอเชียนัสกับธีทิส
ไคลทีหลงใหลใฝ่ฝันเทพอพอลโลอยู่มาก นางจะคอยเฝ้าดูเทพอพอลโลขับราชรถลากดวงอาทิตย์อยู่ทุกวัน โดยที่เทพอพอลโลหาได้มีใจกับนางไม่
ไคลทีแหงนหน้ามองดูเทพอพอลโลนับตั้งแต่ยามเช้าพระอาทิตย์ขึ้น และเฝ้ามองตามไม่ให้คลาดสายตาจวบจนพระอาทิตย์ตก โดยหวังว่าสักวันสุริยเทพจะเหลือบมาเห็นนางบ้าง
ปวงเทพทั้งหลายสงสารในความรักของนางไคลที จึงได้บันดาลให้ไคลทีกลายร่างเป็นต้นทานตะวันที่คอยชูดอกผินตามดวงอาทิตย์ตั้งแต่เช้าจนเย็นเป็นประจำมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
เทพอพอลโลนั้นมีฝีมือทางการดนตรี โดยเฉพาะการบรรเลงพิณสวรรค์ พระองค์จึงมีหน้าที่ดีดพิณขับกล่อมให้ความสำราญกับเหล่าเทพโอลิมเปียนส์ โดยมีบริวารที่ช่วยบรรเลงเพลงสวรรค์อีก 9 องค์ เรียกว่าคณะศิลปวิทยาเทวี หรือ มิวส์
มิวส์ทั้งเก้า เป็นธิดาของมหาเทพซูสกับนางเนเมซิส ประกอบด้วย
ไคลโอ (Clio) เทวีประวัติศาสตร์
ยูเรเนีย (Urania) เทวีดาราศาสตร์
เมลโพมีนี (Melpomene) เทวีเรื่องโศกนาฏกรรม
ธาเลีย (Thalia) เทวีเรื่องสรวล
เทิร์ปซิโครี (Terpsichore) เทวีการฟ้อนรำ
คัลลิโอพี (Colliope) เทวีบทกวีเรื่อง
เออราโต (Erato) เทวีบทกวีรัก
ยูเทอร์พี (Euterpe) เทวีบทกวีร้อง
โพลิฮิมเนีย (Polyhymnis) เทวีบทกวีร่ายอาศิรพจน์ (คำอวยพร)
คลิ๊ก..เพื่อดูภาพขนาดใหญ่ จาก www.wga.hu
แต่บริวารที่ใกล้ชิดเทพอพอลโลที่สุด คือ อีออส (Eos) เทวีครองแสงเงินแสงทอง ผู้ทำหน้าที่เปิดทวารยามอรุณรุ่งให้ราชรถของเทพอพอลโลออกโคจร พร้อมกันนั้นก็ไขแสงเงินแสงทองเป็นสัญญาณเบิกทางโคจรของอพอลโลด้วย  

ฮาเดส(Hades) เทพแห่งนรกโลกันต์

ฮาเดสโอรสองค์ที่ 4 ของเทพไททันโครนอส เป็นพี่ชายของโพไซดอนและซูส เมื่อแรกกำเนิดถูกโครนอสเทพบิดากลืนลงท้องเพราะกลัวว่าเมื่อโตขึ้นจะมาโค่นอำนาจของตนเองตามคำสาปแช่งของอูรานอส เมื่อซูสรบชนะโครนอสก็ให้มีทิสปรุงยาสำรอกให้โครนอสดื่ม โครนอสจึงสำรอกฮาเดสและพี่น้องอีก 4 องค์ออกมา ซึ่งตอนนั้นบรรดาเทพบุตรเทพธิดาที่อยู่ในท้องของโครนอสได้กลายเป็นหนุ่มสาวหมดแล้ว
 
หลังจากช่วยซูสให้ชนะศึกไททันแล้ว ซูสก็ได้แบ่งอำนาจให้ฮาเดสปกครองยมโลกและบาดาล
ฮาเดสเป็นหนึ่งในเทพโอลิมเปียนส์ที่ไม่ยอมอยู่บนโอลิมปัส แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในวังในยมโลก ทำหน้าที่เป็นเทพโลกันต์ตัดสินให้คนตายไปสวรรค์หรือนรก ซึ่งสวรรค์สำหรับคนตายนี้คือทุ่งเอลลีเซียม ไม่ใช่โอลิมปัส เพราะโอลิมปัสเป็นสวรรค์สำหรับเหล่าเทพ
พระราชวังของฮาเดสอยู่ในยมโลก อยู่ในที่กว้าง ปกคลุมด้วยหมอกที่หนาวเย็น และมีลมพัดแรงตลอดเวลา
ฮาเดสนอกจากเป็นเทพโลกันต์แล้วยังเป็นเทพแห่งทรัพย์ด้วย เนื่องจากบรรดาทรัพย์ต่างๆ ใต้พิภพล้วนแต่เป็นของพระองค์ทั้งสิ้น
เนื่องจากมีหน้าที่ต้องตัดสินคนตายด้วยความยุติธรรมไม่เข้าข้างผู้ใด เทพฮาเดสจึงมีหน้าตาถมึงทึง และเย็นชา เป็นที่เกรงกลัวของทุกคน เป็นเหตุให้จีบสาวไม่เป็น หาชายาไม่ได้
หรืออาจเป็นเพราะไม่มีเทพธิดาหรือสาวคนใดอยากไปอยู่ในยมโลกที่มืดมิดและน่ากลัว
แต่วันหนึ่งอสูรเอนซาลาดัสที่ถูกซูสล่ามโซ่ไว้ใต้ภูเขาเอตนาเกิดดิ้นรนจะให้หลุดจากพันธนาการ ด้วยความแรงทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนลงไปถึงยมโลก เทพฮาเดสเกรงว่ายมโลกจะแตกร้าวจึงขับราชรถเทียมม้าดำไปขึ้นมาตรวจดู
พอดีเทพีอะโฟรไดต์เห็นเทพฮาเดสเข้าก็บัญชาให้กามเทพอีรอสยิงศรรักไปปักอกเทพฮาเดส ซึ่งจะทำให้เทพฮาเดสหลงรักหญิงคนแรกที่พบเห็นทันที
หญิงที่เทพฮาเดสเห็นเป็นคนแรกเป็นเทพธิดานามว่า เพอร์ซิโฟนี (Persephone) เทพีฤดูใบไม้ผลิซึ่งเป็นธิดาองค์เดียวของเทพีแห่งพืชพันธุ์ดีมีเตอร์ และเป็นหลานของเทพฮาเดสเอง
 
เทพีเพอร์ซิโฟนีกำลังเก็บดอกไม้อยู่กับบรรดาเพื่อนๆ
พอเทพฮาเดสเห็นนางเข้าก็หลงรัก จึงตรงเข้าฉุดพาเพอร์ซิโฟนีขึ้นราชรถพาไปยมโลกทันที เพอร์ซีโฟนีพยายามส่งเสียงเรียกให้เพื่อนๆ ช่วย แต่ไม่มีใครช่วยเธอได้
เทพฮาเดสพาเพอร์ซิโฟนีขึ้นราชรถไปถึงแม่น้ำไซเอนี (Cyane) ที่ขวางหน้าอยู่ แม่น้ำนั้นก็ปั่นป่วน ผิวน้ำเอ่อท้นขึ้นมาท่วมตลิ่งเพื่อขัดขวาง เทพฮาเดสกริ้ว ใช้ด้ามคทากระแทกพื้นจนแยกเป็นทาง แล้วพระองค์ก็ทรงราชรถตรงดิ่งไปสู่ยมโลก
ฝ่ายเพอร์ซิโฟนีก็แก้สายรัดองค์โยนแม่น้ำไซเอนี และฝากนางอัปสรประจำแม่น้ำให้ช่วยบอกข่าวเทพีดิมิเตอร์ผู้เป็นมารดาให้ด้วย
ถึงยมโลกแล้วเทพฮาเดสก็จัดแจงอภิเษกสมรสกับเพอร์ซิโมนีโดยที่เธอไม่ได้เต็มใจด้วย
ฝ่ายเทพีดิมิเตอร์ได้ยินเสียงแว่วๆ ของธิดาก็พยายามติดตามหา แต่ไม่ว่าจะตามหาไปแห่งใดก็ไม่อาจพบธิดาสาวได้ พระนางพบแต่เพียงร่องรอยของดอกไม้ที่ตกอยู่เกลื่อนกลาด
เทพีดีมิเตอร์ออกเที่ยวตามหาธิดาไปตามที่ต่างๆ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ทุกวัน จนไม่มีเวลาไปสนใจดูแลพืชพันธุ์ บรรดาพืชพันธุ์และดอกไม้จึงพากันเหี่ยวเฉา และแห้งตายไปตามๆ กัน
 
ระหว่างการตามหาเพอร์ซิโฟนีธิดาสาว เทพีดีมิเตอร์ได้จำแลงองค์เป็นหญิงชราเพื่อมิให้ผู้ใดรู้จัก
วันหนึ่งเทพีดีมิเตอร์ในร่างหญิงชรา ได้มานั่งร้องไห้คร่ำครวญอยู่ที่เมืองอีลูสิส ธิดาของเจ้าเมืองสงสารจึงชวนยายแก่เข้าวังให้ดูแลกุมาร ทริปโทลีมัส (Triptolemus) ผู้น้อง ซึ่งยังเป็นทารกแบเบาะอยู่
พอยายแก่ลูบคลำทารก ทารกนั้นก็เปล่งปลั่งขึ้นเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก ตกกลางคืนเทพีดีมิเตอร์คิดจะช่วยทำให้ทารกนั้นเป็นอมตะ จึงทำพิธีเอาน้ำเกสรดอกไม้ชะโลมทารก ท่องมนต์ และวางทารกลงบนถ่านไฟ
ฝ่ายพระมารดาของทารกนั้นยังไม่วางใจยายแก่นักจึงแอบย่องมาดู เห็นทารกกำลังถูกย่างอยู่บนไฟก็ตกใจ รีบถลันไปอุ้มทารกนั้นออกจากไฟ
ขณะเดียวกันยายแก่ก็กลับคืนร่างเป็นเทพีดีมิเตอร์ บอกเล่าเหตุการณ์ที่กำลังจะชุบโอรสให้เป็นอมตะให้ฟัง จากนั้นเทพีดีมิเตอร์ก็เดินทางตามหาธิดาต่อไป
จนวันหนึ่งเทพีดิมิเตอร์ก็มาถึงแม่น้ำไซเอนี นางอัปสรประจำสายน้ำจึงพัดสายรัดองค์ของเพอร์ซิโฟนีมาให้เทพีดิมิเตอร์ แต่เทพีดิมิเตอร์ก็ยังไม่รู้ว่าธิดาสาวอยู่แห่งใด นางอัปสรแห่งน้ำพุอาเรธูซาจึงได้ขับเป็นลำนำให้เทพีดิมิเตอร์ได้ฟัง
…..
ข้าพวยพุ่งจากพื้นปฐพี
ซอกแซกวารีผ่านโลกันต์
บนบัลลังก์หินอ่อนดำสนิท
แนบชิดเทพฮาเดสคือใครนั่น
คือเอกองค์มเหสีเทพโลกันต์
เพอร์ซิโฟนีจากสวรรค์องค์นั้นเอง
…..
รู้ว่าธิดาสาวเพอร์ซิโฟนีกลายเป็นชายาของเทพฮาเดสอยู่ในยมโลกแล้ว พระนางจึงไปฟ้องมหาเทพซูสให้ช่วยนำพาธิดานางคืนมา
มหาเทพทรงใช้ให้เฮอร์เมสเทพสื่อสารลงไปยมโลกและเจรจาเพื่อนำตัวเพอร์ซิโฟนีกลับมา โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าหากเพอร์ซิโฟนีไม่ได้ทานสิ่งใดในยมโลก เทพฮาเดสต้องคืนเธอกลับมาโดยไม่มีข้อแม้
แต่ถ้าหากเพอร์ซิโฟนีได้ทานอะไรเข้าไปแล้ว เทพฮาเดสจึงจะมีสิทธิในตัวเธอ
เทพฮาเดสจึงจำเป็นต้องส่งเทพีเพอร์ซิโฟนีกลับคืน แต่ภูติแห่งความมืดได้บอกว่าเห็นเพอร์ซิโฟนีเสวยทับทิมไป 6 เมล็ด ในที่สุดจึงตกลงกันว่าในปีหนึ่งๆ เพอร์ซิโฟนีต้องใช้เวลา 6 เดือนอยู่ในยมโลก เป็นชายาของฮาเดส และอีก 6 เดือนกลับมาใช้ชีวิตบนโอลิมปัส
เมื่อเพอร์ซิโฟนีซึ่งเป็นเทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิกลับจากยมโลก ต้นไม้ใบหญ้าบนโลกก็จะผลิใบ และช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่เพอร์ซิโฟนีอยู่บนโลกนี้ เทพีดิมิเตอร์ผู้เป็นมารดาก็มีความยินดีมาก ยามที่เทพีแห่งพืชพันธุ์ยินดี ผืนดินที่อับเฉาก็จะชดชื่นเขียวขจีด้วยพืชพันธุ์
แต่ยามใดที่เพอร์ซิโฟนีกลับลงไปอยู่ยมโลก เทพีดิมิเตอร์ก็เงียบเหงา พลอยทำให้ผืนดินอับเฉา พืชพันธุ์แห้งเหี่ยวไปตามๆ กัน
เมื่อเทียบกับน้องอีก 2 องค์ คือ โพไซดอน และซูส ฮาเดสถือว่าเป็นเทพที่ซื่อสัตย์ต่อชายามาก เพราะพระองค์แม้จะเคยนอกใจชายา แต่ก็เพียง 2 ครั้งเท่านั้น
ครั้งหนึ่งเทพฮาเดสไปหลงเสน่ห์นางอัปสรชื่อว่า มินธี (Minthe) เทพีดีมิเตอร์ผู้เป็นแม่ยายก็โกรธแค้นที่ฮาเดสคิดนอกใจธิดาของนาง เทพีดีมิเตอร์พิโรธโกรธเกรี้ยวจนกระทั่งไล่กระทืบมินธีนางอัปสรผู้น่าสงสารตายคาบาทของพระนาง
เทพโลกันต์ฮาเดสสงสารนางอัปสรน้อยนั้น จึงเปลี่ยนร่างของนางให้กลายเป็นพืชชนิดหนึ่งมีกลิ่นหอม และได้กลายเป็น พืชประจำพระองค์ตลอดมา
ชายาอีกคนของเทพฮาเดสเป็นพรายน้ำ ชื่อ เลอซี (Leuce) ธิดาของเทพไททันโอเชียนัส แต่นางเลอซีบุญน้อยป่วยตายเสียก่อนที่จะถูกเทพีดีมิเตอร์ลงทัณฑ์
หลังจากที่นางเลอซีตายไปแล้วก็กลายร่างเป็นต้นพ็อปลาร์ขาว ซึ่งกลายเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ในการทำพิธีการลึกลับ ณ เมืองอีเลอซีส

โพไซดอน(Posidon) เทพแห่งท้องทะเล

โพไซดอนเป็นโอรสองค์ที่ 5 ของเทพไททันโครนอส เป็นพี่ชายของซูสมหาเทพ เมื่อแรกกำเนิดถูกโครนอสเทพบิดากลืนลงท้องเพราะกลัวว่าเมื่อโตขึ้นจะมาโค่นอำนาจของตนเองตามคำสาปแช่งของอูรานอส เมื่อซูสรบชนะโครนอส ก็ให้มีทิสปรุงยาสำรอกให้โครนอสดื่ม โครนอสจึงสำรอกโพไซดอนและพี่ๆ อีก 4 องค์ออกมา ซึ่งตอนนั้นบรรดาเทพบุตรเทพธิดาที่อยู่ในท้องของโครนอสได้กลายเป็นหนุ่มสาวหมดแล้ว


หลังจากช่วยซูสให้ชนะศึกไททันแล้ว ซูสก็ได้แบ่งอำนาจให้ฮาเดสพี่ชายองค์โตลงไปปกครองขุมนรก ให้โพไซดอนปกครองทะเล แม่น้ำ และลำธาร ส่วนโอเชียนัสผู้ปกครองทะเลเดิมให้คงเหลืออำนาจในการปกครองมหาสมุทรรอบนอกที่เป็นห้วงน้ำใหญ่ไหลวนรอบโลก
โพไซดอนนั้นมีอำนาจในการควบคุมพายุและความสงบในท้องทะเล มีพาหนะเป็นราชรถทองคำเทียมม้าเนรมิตตัวใหญ่ มีอาวุธเป็นตรีศูลที่ยักษ์ไซคลอปส์สร้างให้เมื่อคราวรบในศึกไททัน
โพไซดอนมีปราสาทอยู่ใต้ทะเล เมื่อยามที่จะขึ้นมาตรวจตราผืนน้ำ ทะเลก็จะแหวกเป็นช่องให้ราชรถทองโผล่พ้นน้ำขึ้นมา เมื่อยามท่องทะเลธรรมดา ผืนน้ำก็เงียบสงบปราศจากคลื่นลม แต่หากโพไซดอนขยับตรีศูลเมื่อใด ผืนน้ำนั้นก็จะปั่นป่วนกลายเป็นทะเลบ้าไปทันที โพไซดอนจึงเป็นเทพแห่งทะเล เรียกว่า โพไซดอนเจ้าสมุทร แต่บางครั้งก็เรียกว่า เทพผู้เขย่าโลก
บริวารภายใต้การปกครองของโพไซดอนที่สำคัญ คือ เนเรอุส ผู้เฒ่าแห่งทะเล และกลุ่มนางอัปสรเนอรีด 50 นาง ธิดาของเฒ่าเนเรอุส ผู้ซึ่งชอบไปรำนวยนาดอยู่บนยอดคลื่นในท้องทะเล และยังมีหมู่เทพที่เรียกว่า ตรีตอนส์ ที่ชอบนั่งเป่าปี่อยู่บนคลื่น


โพไซดอนหลงรักนางอัปสรคนหนึ่งชื่อ ธีทิส แต่เมื่อเทพไททันทีมิสพยากรณ์ว่าลูกชายของธีทิสคนหนึ่งจะเก่งและยิ่งใหญ่กว่าพ่อ โพไซดอนคงจะกลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอยจึงไปเล็งหาหญิงอื่นแทน
โพไซดอนหันไปหานางอัปสรอีกคนชื่อว่า แอมฟิไทรต์ (Amphitrite) ธิดาของเทพแห่งธารเนเรอุส หลานของเทพไททันโอเชียนัส แต่นางอัปสรแอมฟิไทรต์ก็หนีโพไซดอนไปอยู่ที่เขาแอตลาส
โพไซดอนส่งบริวารออกตามหาแอมฟิไทรต์ไปทั่ว ในที่สุดหัวหน้าฝูงปลาโลมาชื่อ เดลฟิน ก็พบตัวแอมฟิไทรต์ และพูดจาหว่านล้อมจนแอมฟิไทรต์ใจอ่อนยอมกลับมาแต่งงานกับโพไซดอน
แอมฟิไทรต์มีโอรสกับโพไซดอน 3 องค์ คือ ไทรทัน (Triton) โรดี (Rhode) และเบนธีซิคสิมี (Benthesicyme)
โพไซดอนเป็นเทพจอมเจ้าชู้อีกองค์หนึ่ง แต่โชคดีกว่าซูสตรงที่เทพีแอมฟิไทรต์ปล่อยให้สวามีเจ้าชู้กับสาวอื่นได้โดยไม่ตามหึงหวง ยกเว้นรายนางซิลลาเพียงรายเดียว


นางซิลลา (Seylla) เป็นนางไม้แสนสวยที่โพไซดอนหลงรักเธอหัวปักหัวปำจนเทพีแอมฟิไทรต์ทนไม่ได้ จึงแอบนำยาพิษไปโรยในสระน้ำที่นางซิลลาลงอาบประจำ ทำให้นางซิลลากลายร่างจากสาวงามเป็นนางอสูรร้าย 6 หัวที่น่าสะพรึงกลัวไปทันที นับว่าเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เทพีแอมฟิไทรต์ กระทำรุนแรงกับชายาน้อยของสวามี
อีกครั้งหนึ่งโพไซดอนเจ้าสมุทรเกิดไปหลงรักนางอัปสรบริวารเทพีอาธีนาชื่อ เมดูซา ซึ่งเมดูซาก็หลงไหลไฝ่ฝันโพไซดอนเป็นอันมาก โพไซดอนนั้นแปลงร่างเป็นม้ามาสมสู่กับเมดูซา แต่เทพีอาธีนานั้นเป็นเทพีพรหมจรรย์ นางอัปสรบริวารทั้งหมดก็รักษาพรหมจรรย์ เมื่อรู้ว่าเมดูซาไปสมสู่มีสามี เทพีอาธีนาจึงพิโรธมากสาปให้เมดูซากลายร่างจากนางอัปสรแสนสวยเป็นปิศาจผมงูที่น่าเกลียดน่ากลัว และหากใครมองหน้านางตรงๆ ร่างเขาก็จะกลายเป็นหินไปทันที
นางเมดูซาเมื่อถูกสาบให้กลายเป็นปิศาจร้ายไปแล้ว ก็ได้ไปอาศัยอยู่กับพี่สาวอีกสองคนที่เกาะลึกลับแห่งหนึ่ง กลางทะเลตะวันตกที่สุดปลายพิภพ


แต่สุดท้ายนางเมดูซาก็ถูกเพอร์ซีอุส โอรสของมหาเทพซูสกับนางดาเน่ ฆ่าตัดหัวตามที่ได้รับมอบหมายภาระกิจนี้มาจากท้าวโพลิเดคทิส ระหว่างที่เมดูซาถูกตัดหัวนั้น เลือดที่กระเซ็นออกมาได้กลายเป็นม้าวิเศษสองตัว คือ ม้าคริสซาออร์ (Chrysaor) กับม้าเพกาซัส (Pegasus) ซึ่งม้าทั้งสองนี้ก็คือโอรสของโพไซดอนกับเมดูซานั่นเอง
ชายาอีกองค์หนึ่งของโพไซดอน คือ เทพีดีมิเตอร์
โพไซดอนนั้นหลงรักเทพีดีมิเตอร์มานาน แม้เทพีดีมิเตอร์จะมีธิดากับมหาเทพซูสจนโตเป็นสาวชื่อเพอร์ซีโฟนีแล้ว โพไซดอนก็ยังคงรักเทพีดีมิเตอร์อยู่
จนวันหนึ่งเมื่อเพอร์ซีโฟนีธิดาสาวของเทพีดีมิเตอร์ถูกฮาเดสเทพโลกันต์ลักพาตัวไปเป็นชายาในยมโลก ดีมิเตอร์ก็ทุกข์ทรมานด้วยความเป็นห่วงและเฝ้าตามหา แต่ตามหาเท่าไรก็ไม่พบ เมื่อเป็นทุกข์หนักเข้าเทพีดีมิเตอร์จึงแปลงร่างเป็นม้าตัวเมียเพื่อหลบไปอยู่ตามลำพังไม่ให้ใครรบกวน
โพไซดอนได้ทีจึงแปลงร่างเป็นพ่อม้าไปสมสู่กับดีมิเตอร์ในร่างม้าตัวเมียจนได้ ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 2 คน คนหนึ่งเป็นนางไม้ชื่อเดสพีนา (Despoena) อีกคนเป็นม้าป่าชื่อแอเรียน (Arion)
ด้วยความที่เป็นเทพที่ทรงอิทธิฤทธิ์ 1 ใน 3 องค์ คือ ซูสเป็นใหญ่ในสวรรค์ ฮาเดสเป็นใหญ่ในยมโลก ส่วนโพไซดอนเป็นใหญ่บนท้องทะเล โพไซดอนจึงเคยมีความคิดที่จะครองความเป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียวแทนน้องชาย เมื่อพระนางเฮร่ามาชวนยึดอำนาจจากซูส โพไซดอนจึงร่วมมือด้วย แต่สุดท้ายการโค่นอำนาจซูสล้มเหลว ซูสจึงให้โพไซดอนสาบานกับแม่น้ำสติกซ์ว่าจะไม่คิดกบฏอีก และลงโทษโดยส่งลงไปทำงานหนักรับใช้มนุษย์เป็นเวลา 1 ปี
ในขณะนั้นที่กรุงทรอย ท้าวเลือมมิดอน (Laomedon) เจ้าเมืองทรอยกำลังสร้างกำแพงเมืองใหญ่เอาไว้ป้องกันข้าศึก โพไซดอนจึงลงมาช่วยงาน ซึ่งท้าวเลือมมิดอนสัญญาว่าเสร็จงานแล้วจะให้ลูกโคท้องแรกทั้งหมดของกรุงทรอยเป็นรางวัล


ระหว่างนั้นเทพอพอลโล (Apollo) หลานของโพไซดอนซึ่งถูกลงโทษจากสวรรค์เช่นกัน ก็ได้อาสาช่วยโพไซดอนสร้างกำแพงอีกแรงด้วย โดยวิธีดีดพิณให้หินเคลื่อนไปตามอำนาจของเสียงพิณอันไพเราะของอพอลโล งานที่แสนหนักและเหนื่อยจึงสำเร็จลงโดยเรียบร้อยและรวดเร็ว
แต่เสร็จงานแล้วท้าวเลือมมิดอนกลับทำเป็นลืมสัญญา
โพเซดอนโกรธมากจึงเนรมิตอสูรร้ายขึ้นมาจากทะเล เที่ยวไล่กินผู้คนชาวเมืองไปเป็นจำนวนมาก ต้องแก้ไขโดยการส่งสาวพรหมจารีไปผูกไว้กับโขดหินริมทะเลเพื่อเป็นอาหารอสูรกาย ซึ่งเมื่ออสูรกายกินหญิงสาวพรหมจารีไปแล้วก็จะหายไปเป็นเวลา 1 ปี แล้วจึงกลับขึ้นมาอาละวาดอีก ชาวเมืองจึงต้องทำการพลีหญิงสาวพรหมจารีให้อสูรกายทุกๆ ปี
ผ่านไปปีแล้วปีเล่าที่ทรอยต้องสูญเสียหญิงสาวพรหมจารีเป็นอาหารสังเวยให้อสูรร้าย ในที่สุดก็ถึงคราวที่ เฮอร์ไซโอนี ธิดาสาวท้าวเลือมมิดอนต้องเป็นเหยื่อสังเวย
ท้าวเลือมมิดอนหวังจะช่วยชีวิตราชธิดา จึงประกาศให้รางวัลอย่างงามแก่ผู้ที่สามารถฆ่าอสูรกายร้ายลงได้
ในขณะนั้น เฮอร์คิวลิส  ผ่านมาได้ยินข่าว จึงอาสาฆ่าสัตว์ร้ายและช่วยนางฮีไซโอนีไว้ได้ แต่ท้าวเลือมมิดอนยังไม่เลิกนิสัยเดิมและเพิกเฉยต่อสัญญาที่ไห้ไว้กับเฮอร์คิวลิสอีก เป็นเหตุให้เฮอร์คิวลิสผูกใจเจ็บ และได้กลับย้อนมาตีกรุงทรอยในภายหลัง
ส่วนโพไซดอนนั้นก็ยังคงโกรธแค้นท้าวเลือมมิดอนและชาวกรุงทรอยเรื่อยมา เมื่อเกิดสงครามกรุงทรอย โพไซดอนก็ไปช่วยกองทัพกรีกซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้าม
โพไซดอนเคยแย่งชิงสิทธิในการตั้งชื่อและเป็นเทพผู้รักษาเมืองใหม่แห่งหนึ่งกับเทพีอาธีนา มหาเทพซูสให้โพไซดอนและเทพีอาธีนาเนรมิตสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้เมืองใหม่ หากสิ่งเนรมิตของใครมีประโยชน์มากกว่าก็จะได้สิทธิในเมืองใหม่นั้น
โพไซดอนเนรมิตน้ำทะเลให้พวยพุ่งเป็นน้ำพุเป็นที่น่าอัศจรรย์แก่ชาวเมือง ส่วนเทพีอาธีนาเนรมิตเพียงต้นมะกอกต้นเดียว
เหล่าเทพและเทพีต่างโต้เถียงกันว่าระหว่างน้ำพุกับต้นมะกอก อย่างไหนจะให้ประโยชน์แก่ชาวเมืองมากกว่ากัน


ฝ่ายที่เข้าข้างโพไซดอนก็ว่าน้ำพุนั้นมีประโยชน์กว่า อีกทั้งน่าอัศจรรย์ในความสวยงามและความแรงของสายน้ำ ไม่เหมือนต้นมะกอกที่ไม่เห็นมีค่าอันใด
ส่วยฝ่ายที่เข้าข้างเทพีอาธีนาก็แย้งว่าน้ำพุนั้นสวยงามก็จริง แต่มีรสเค็ม ไม่อาจสร้างประโยชน์อันใดได้ ส่วนต้นมะกอกนั้นมีประโยชน์ทั้งผลที่กินได้ ให้น้ำมัน และกิ่งก้านใช้ทำฟืนในฤดูหนาว
ผลการตัดสินของเหล่าเทพบุตรและเทพธิดาปรากฎว่าเทพบุตรเลือกน้ำพุของโพไซดอน ส่วนเทพธิดาเลือกต้นมะกอกของเทพีอาธีนา และเนื่องจากเทพธิดามีจำนวนมากกว่าเทพบุตรอยู่ 1 องค์ ต้นมะกอกของเทพีอาธีนาจึงชนะการแข่งขัน
เทพีอาธีนาตั้งชื่อเมืองใหม่นั้นว่ากรุงเอเธนส์ และต้นมะกอกก็กลายเป็นสัญญลักษณ์แห่งกรุงเอเธนส์นับแต่นั้นมา
เวลาโพไซดอนเดินทางไปไหน บุตรชายของโพไซดอนชื่อไทรทันผู้มีร่างเป็นมนุษย์แต่ท่อนร่างเป็นปลา มักจะนำหน้าไปเสมอ และมีหน้าที่คอยเป่าหอยประกาศให้รู้ถึงการมาของโพไซดอน  

วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2553

ซูส(Zeus) ราชาแห่งทวยเทพ

เมื่อซูสยึดอำนาจจากโครนัสได้สำเร็จ ซูสก็สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจอมเทพแห่งสวรรค์โอลิมปัส โดยมีพี่ๆ ที่สำรอกออกมาจากท้องโครนัสเป็นกำลังสนับสนุน
ฝ่ายโครนอสเมื่อถูกขับไล่ออกจากสวรรค์โอลิมปัสก็ไปรวบรวมกำลังกลับมาทวงอำนาจคืนจากซูส กองกำลังฝ่ายโครนอสประกอบด้วยเทพบุตรไททัน คือ ซีอัส ครีอัส ไฮเพอร์เรียน และไอแอพิทัส ส่วนโอเชียนัสกับเทพธิดาไททันที่เหลือวางตัวเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใด นอกจากนี้โครนอสก็ยังมีหลานๆ มาเป็นกำลังสนับสนุนในการศึกนี้ด้วย ที่เป็นจอมทัพคนสำคัญ คือ แอตลาส โอรสของไอแอพิทัสกับคลีมีน




สงครามแย่งชิงบัลลังก์สวรรค์เป็นไปอย่างดุเดือดยาวนานถึง 10 ปี ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพลี่ยงพล้ำ ในที่สุดจอมมารดาไกอาก็พยากรณ์ว่าหากต้องการชัยชนะ ซูสจะต้องใช้อาวุธที่ทรงประสิทธิภาพจากตรุทาร์ทารัส
ซูสเชื่อคำพยากรณ์ จึงลงไปยมโลก ขอให้ไซคลอปส์ยักษ์ตาเดียวทำอาวุธให้แลกกับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากตรุทาร์ทารัส ยักษ์ไซคลอปส์จึงผลิตสายฟ้ามอบให้ซูสใช้เป็นอาวุธ สร้างตรีศูลให้โปไซดอน และทำหมวกล่องหนให้ฮาร์เดส จากนั้นซูสก็พายักษ์ไซคลอปส์และยักษ์ 50 หัวจากตรุทาร์ทารัสมาเป็นพวกต่อสู้กับฝ่ายโครนัส
ด้วยอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพของเทพทั้งสาม ในที่สุดซูสก็จับโครนอสได้ และพวกไททันบริวารก็ยอมแพ้ศิโรราบ
ซูสลงโทษโครนอสและบริวารโดยการเนรเทศน์โครนอสให้ไปอยู่เกาะกลางทะเล ซึ่งต่อมาโครนอสก็สามารถหนีออกจากเกาะนั้นได้และไปอาศัยอยู่ที่เฮสเพอเรียซึ่งก็คือดินแดนอิตาลีในปัจจุบันอย่างสงบ แอตลาสถูกลงโทษให้เป็นผู้แบกสวรรค์ไว้บนบ่า ส่วนผู้สนับสนุนอื่นๆ ก็ถูกจับไปขังในตรุทาร์ทารัส
เสร็จศึกครั้งนี้ซูสก็แบ่งการปกครองออกเป็น 3 ส่วน คือ ตัวซูสเองปกครองสวรรค์และพิภพ ฮาเดสปกครองขุมนรกและบาดาล ส่วนโพไซดอนปกครองทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยเหลือมหาสมุทรรอบนอกให้โอเชียนัสปกครองต่อไป
ส่วนยักษ์ไซคลอปส์ก็ช่วยสร้างพระราชวังที่โอ่โถงสง่างามบนยอดเขาโอลิมปัสมอบให้ซูสจอมเทพ พระราชวังนี้อยู่สูงเหนือเมฆ และสามารถมองได้ไกลรอบด้าน จอมเทพซูสจึงสามารถมองเหตุการณ์ต่างๆ บนโลกมนุษย์ได้จากพระราชวังแห่งนี้
เมื่อสงครามสงบ ซูสซึ่งมีความพึงพอใจในตัวมีทิสเทพธิดาไททันที่มาช่วยทำยาสำรอกให้โครนอสดื่มก็คอยเฝ้าตามตื้อมีทิสไปทุกแห่ง หวังจะได้นางเป็นชายา ฝ่ายมีทิสนั้นก็พยายามหลีกหนีโดยแปลงร่างไปต่างๆ นานา แต่ซูสก็ยังติดตามไปไม่ห่าง
ในที่สุดมีทิสก็ยอมแพ้ความพยายามของซูสและยอมรับซูสเป็นสวามีจนตั้งครรภ์ขึ้น แต่จอมมารดาไกอากลับพยากรณ์ว่าหากมีทิสมีโอรส โอรสนั้นจะโค่นอำนาจของซูส ด้วยความเกรงกลัวคำพยากรณ์ซูสจึงจับมีทิสกลืนลงท้องไป
ต่อมาไม่นานซูสก็มีอาการปวดหัวจนทนไม่ไหวต้องผ่าหัวออก จึงปรากฎร่างของเทพีอาธีนาในชุดนักรบเดินออกมาจากหัวของซูส เทพีอาธีนานี้เป็นธิดาของซูสกับมีทิส เป็นเทพีแห่งสติปัญญา และมักจะอยู่ใกล้ๆ ซูสเพื่อให้คำแนะนำซูสตลอดมา
เมื่อสิ้นมีทิสไปแล้ว ซูสก็เจ้าชู้มีชายาไปทั่ว แต่ที่หมายมั่นปั้นมือมากที่สุดก็คือเทพธิดาเฮร่าพี่สาวสุดสวย ฝ่ายเฮร่าก็เอาแต่หนีด้วยกลัวความเจ้าชู้ของน้องชายจนซูสไม่อาจเข้าใกล้ตัวเฮร่าได้ ซูสจึงใช้แผนแปลงร่างเป็นนกน้อยบินฝ่าสายฝนไปตกตรงหน้าเฮร่า
เฮร่าเห็นนกน้อยที่น่าสงสารบินหมดแรงมาตกตรงหน้า เนื้อตัวสั่นเทาด้วยความหนาว นางจึงโอบอุ้มนกน้อยนั้นไว้แนบออกเพื่อให้ไออุ่น ซูสได้ทีก็แปลงร่างกลับเป็นจอมเทพและกอดเฮร่าไว้จนนางไม่อาจหนีได้อีกต่อไป
ด้วยอุบายของซูสทำให้เฮร่ารู้สึกอับอายจึงยินยอมอภิเษกกับซูสหลังจากที่หลีกหนีซูสมาได้ถึง 300 ปี และเฮร่าก็อยู่ช่วยซูสปกครองสวรรค์ที่เขาโอลิมปัสตลอดมา
พระนางเฮร่าให้กำเนิดโอรสธิดากับซูส คือ ฮีบี้ (Hebe) อิลลิธธียา (Ilithyia) และแอรีส (Ares) และด้วยอารมณ์โกรธที่เห็นซูสให้กำเนิดเทพีอาธีนาจากศีรษะ พระนางเฮร่าก็ให้กำเนิดโอรสโดยไม่พึ่งพาซูสบ้าง โอรสองค์นั้นคือ เฮเฟตัส
ด้านการปกครองสวรรค์ในยุคแรกนั้น ซูสถูกท้าทายอำนาจอีกหลายครั้ง




เริ่มจากจอมมารดาไกอาที่มีความไม่พอใจซูส เนื่องจากซูสจับไททันซึ่งเป็นโอรสและธิดาของจอมมารดาไกอาหลายองค์ไปขังไว้ในตรุทาร์ทารัส จอมมารดาไกอาจึงเนรมิตอสูรขึ้นตนหนึ่ง เรียกว่า ไทฟอน (Typhon) เป็นอสูรที่ดุร้ายและมีร่างกายประหลาดน่ากลัวมาก คือ มีหัวเป็นมังกรนับร้อยหัวที่ยาวเกือบจะถึงดวงดาว มีเปลวไฟพิษพวยพุ่งออกจากดวงตา มีลาวาไหลออกจากปาก แผดเสียงก้องกัมปนาทตลอดเวลาดังกว่าราชสีห์คำรามพร้อมกันเป็นร้อยตัว มันหักยอดเขาขว้างใส่เหล่าทวยเทพจนเทพทั้งหลายต่างตกใจพากันหนีเตลิดจากเขาโอลิมปัสไปหลบซ่อนตัวกันจ้าละหวั่น และด้วยความที่กลัวว่าอสูรจะตามทัน เทพเหล่านั้นยังจำแลงองค์เป็นสัตว์นานาชนิดด้วยเพื่อมิให้อสูรจำได้ เช่น ซูสจำแลงร่างเป็นแกะ เฮร่าจำแลงร่างเป็นโค เป็นต้น
แต่เทพีแห่งสติปัญญาอาธีนาได้กล่าววาจาเตือนสติซูสจนซูสเกิดความละอายจึงกลับคืนสู่เขาโอลิมปัสอีกครั้งเพื่อหาทางปราบอสูรไทฟอน ส่วนเทพอื่นๆ เมื่อได้สติก็กลับมาช่วยซูสต่อสู้กับไทฟอน
ซูสใช้สายฟ้าอาวุธประจำตัวต่อสู้กับอสูรไทฟอนอย่างดุเดือด จนยากที่จะมีผู้ใดรอดชีวิตอยู่ได้หากเข้าไปใกล้บริเวณสู้รบ การสู้รบดำเนินไปเป็นเวลานาน ไทฟอนหันไปหักยอดเขาเอตนามาขว้างใส่ซูส แต่ซูสก็ใช้สายฟ้าฟาดยอดเขาเอตนาลอยละลิ่วกลับมาทับอสูรไทฟอนไว้ใต้เขาจนไม่สามารถลุกขึ้นมาต่อสู้ได้อีก ซูสจึงได้รับชัยชนะจากการต่อสู้ครั้งนี้ ส่วนไทฟอนก็ยังคงถูกทับอยู่ใต้เขา และมันยังคงพยายามพ่นไฟ พ่นลาวา ออกมาอยู่บ่อยๆ
ต่อมาไม่นานนัก จอมมารดาไกอาก็เนรมิตยักษ์ร้ายชื่อเอนเซลาดัส (Enceladus) มาต่อสู้กับซูสอีก แต่ซูสก็สามารถจับยักษ์ร้ายเอนเซลาดัสไว้ได้ ซูสจับเอนซาลาดัสล่ามโซ่และขึงพืดไว้ใต้ภูเขาเอตนา เอนเซลาดัสคำรนคำรามแผดเสียงกึกก้องอยู่ใต้เขาเอตนาบางทีก็พ่นไฟขึ้นหวังจะทำอันตรายซูส ทำให้เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดอย่างรุนแรง แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปเอนเซลาดัสก็เริ่มอ่อนแรงจึงหยุดสำแดงฤทธิ์อาละวาด เพียงแต่ขยับตัวทำให้เกิดแผ่นดินไหวเป็นครั้งคราวเท่านั้น
เมื่อทั้งอสูรไทฟอนและยักษ์ร้ายเอนเซลาดัสพ่ายแพ้อย่างราบคาบ จอมมารดาไกอาก็เลิกคิดจะเนรมิตสัตว์ร้ายใดๆ มาทำร้ายซูสอีก สรวงสวรรค์จึงสงบขึ้น




 
แต่สงครามสั่นบัลลังก์อำนาจของซูสยังมีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เกิดจากพี่น้องของตนเอง โดยมีมเหสีเฮร่าเป็นผู้นำกบฏ
เนื่องจากซูสขึ้นครองตำแหน่งจอมเทพตั้งแต่วัยหนุ่ม ด้วยนิสัยใจร้อน หุนหันพลันแล่น และเอาแต่ใจ เทพองค์อื่นๆ รู้สึกไม่พอใจจึงวางแผนโค่นอำนาจซูส แผนก่อการครั้งนี้นำโดยเทพีเฮร่าผู้เป็นมเหสี โพไซดอน เฮอร์มีส และเทพีอาธีนา โดยเทพีเฮร่านั้นคิดก่อการโค่นอำนาจซูสส่วนหนึ่งมาจากเพราะเบื่อกับความเจ้าชู้ของซูสด้วย
เทพีเฮร่าลงมือมอมยาให้ซูสหลับ จากนั้นเทพกบฏก็เข้ามาจับซูสมัดไว้กับรถม้าด้วยเชือกหนัง และยึดสายฟ้าอาวุธของซูสไว้ด้วย เมื่อซูสได้สติก็ไม่สามารถแก้มัดเชือกหนังนั้นได้เพราะเทพกบฏผูกปมไว้ถึง 100 ปม
ระหว่างที่เหล่าเทพหารือกันว่าจะให้ใครขึ้นเป็นจอมเทพแทนซูส ธีทิสเทพีไททันผู้เป็นชายาองค์หนึ่งของซูสก็ได้เรียกเบรียรูสยักษ์ 50 หัว ให้มาช่วย เบรียรูสใช้มือ 100 มือแก้ปมเชือกทั้ง 100 ปมออกได้อย่างรวดเร็ว พอซูสเป็นอิสระก็สามารถแย่งสายฟ้ากลับคืนมาได้
เมื่ออาวุธสายฟ้าอันทรงอานุภาพกลับมาอยู่ในมือซูส เหล่าเทพกบฏต่างก็คุกเข่าขออภัยโทษต่อมหาเทพ
ซูสให้โพไซดอนและเฮอร์มีสสาบานว่าจะไม่คิดคดทรยศอีก จากนั้นก็ลงโทษสถานเบาให้ลงไปช่วยงานมนุษย์เป็นเวลา 1 ปี
สำหรับเทพีอาธีนานั้น ซูสไม่ได้ลงโทษ ด้วยเทพีอาธีนานั้นไม่ได้เต็มใจจะเข้ากับกลุ่มกบฏ




ส่วนมเหสีเฮร่าในฐานะผู้นำกบฏถูกลงโทษหนักโดยจอมเทพจับมัดด้วยสายเงินที่ข้อเท้า แขวนนางไว้กับขื่อสวรรค์ และเอาทั่งเหล็กมาถ่วงไว้ด้วย เฮเฟตัสพระโอรสพยายามเข้าช่วยเหลือพระมารดา จึงถูกซูสจับโยนตกลงมาจากสวรรค์ทำให้ขาหักกลายเป็นเทพพิการไป
การลงโทษโดยการแขวนนี้เจ็บปวดทรมานมากจนพระนางเฮร่าทนไม่ไหวร้องไห้คร่ำครวญตลอดทิวาและราตรีแต่ไม่มีเทพองค์ใดกล้าช่วยเหลือ แต่ผ่านพ้นไปเพียงแค่ 4 วัน มหาเทพไม่ได้หลับได้นอนเพราะเสียงร้องคร่ำครวญของมเหสี พระองค์จึงบอกให้นางสาบานว่าต่อไปจะไม่คิดโค่นบัลลังก์ของพระองค์อีก พระนางเฮร่าไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่นจึงยอมสาบาน มหาเทพจึงยุติการลงโทษนางและรับกลับเป็นมเหสีเช่นเดิม
วันเวลาผ่านไป เมื่อซูสเติบใหญ่ขึ้นนิสัยมุทะลุวู่วาม เอาแต่ใจก็ลดน้อยลง กลายเป็นมหาเทพที่ฉลาดและสามารถปกครองสามโลกได้อย่างเที่ยงธรรม และปล่อยบรรดาไทแทนออกมาจากตรุทาร์ทารัสด้วย
ซูสนั้นได้ชื่อว่าเป็นมหาเทพจอมเจ้าชู้ เป็นหนึ่งในเรื่องรัก แม้จะมีมเหสีที่มีความงามเป็นหนึ่งในสวรรค์อย่างเทพีเฮร่าอยู่แล้ว แต่ก็ไม่วายไปมีสัมพันธ์กับเทพธิดาและมนุษย์อื่นๆ อีกหลายคนจนเทพีเฮร่าต้องตามหึงหวงไม่ได้หยุด
วีรกรรมความเจ้าชู้ของซูสกับบรรดาเทพธิดาบนสวรรค์ รวมทั้งสาวๆ เมืองมนุษย์นั้นมีมากมาย เช่น มีทิส
มีทิสเป็นชายาองค์แรกของซูส เป็นธิดาของเทพไททันโอเชียนัสกับธีทิส แต่มีทิสก็ถูกซูสกลืนกินเมื่อพระนางเริ่มตั้งครรภ์ เนื่องจากซูสกลัวคำพยากรณ์ของจอมมารดาไกอาว่านางจะให้กำเนิดโอรสที่มาโค่นบัลลังก์ แต่หลังจากกลืนมีทิสลงท้องไปแล้ว ซูสก็ยังให้กำเนิดธิดากับมีทิสได้โดยต้องผ่าออกมาจากพระเศียรของซูส ธิดาองค์นั้นก็คือ เทพีอาธีนา เทพีครองปัญญานั่นเอง ธีมิส
ชายาองค์ที่สองของซูสเป็นเทพธิดาไททันอีกเช่นกัน คือ ธีมิส ธีมิสมีธิดากับซูสเป็นเทพธิดาแห่งฤดูกาล 3 องค์ คือ ยูโนเนีย ไดซ์ และอีริน รวมเรียกว่า ซีซัน (Season) และเทพธิดาแห่งโชคชะตาอีก 3 องค์ คือ โคลธโธ แลซซิซิส และแอตโทรพอส รวมเรียกว่าเฟท (Fates) เทพธิดา 3 องค์นี้รูปร่างเป็นหญิงชรา ต่อมาทั้งสามพี่น้องก็ได้ลงไปอยู่ยมโลกกับเทพฮาเดส ทำหน้าที่กำหนดโชคชะตาของมนุษย์ โดยคนเล็กปั่นฝ้ายให้ชีวิต คนกลางฟั่นเป็นเชือกทำให้ชีวิตมั่นคง และคนโตตัดเชือกทำลายชีวิตให้สิ้นลง ยูรินโนม
ชายาองค์ที่สามของซูสเป็นธิดาของโอเชียนัสกับธีทิส ชื่อ ยูรินโนม (Eurynome) ให้กำเนิดเทพอัปสรที่เรียกว่าเกรซ 3 องค์ คือ อกลาเอีย (Aglaia) ยูโฟรซีน (Euphrosyne) และเธลเลีย (Thalia) เกรซนี้เป็นเทพอัปสรคุ้มครองพันธุ์ไม้ ซึ่งต่อมาเทพธิดาทั้งสามก็ไปเป็นเทพอัปสรรับใช้เทพีอโฟรไดต์และมีหน้าที่สร้างความบันเทิงบนสวรรค์โอลิมปัสร่วมกลุ่มกับมิวส์ ดีมิเตอร์
ชายาองค์ที่สี่ของซูสคือเทพีแห่งพืชพันธุ์ ดีมิเตอร์ พี่สาวของซูสเอง และดีมิเตอร์ก็ให้กำเนิดเทพธิดาชื่อเพอร์ซิโฟนี เทพีฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งต่อมาฮาเดสได้มาลักพานางลงไปเป็นชายาในยมโลก เนเมซิส
ชายาองค์ที่ห้าของซูสคือเทพธิดาไททัน เนเมซิส ชายาองค์นี้มีที่มาคือเมื่อครั้งที่ซูสเอาชนะศึกไททันได้แล้ว ทวยเทพก็หารือกันว่าควรจะมีวิธีการเฉลิมฉลองชัยชนะให้ยิ่งใหญ่ ซูสกับเนเมซิสจึงได้อยู่ร่วมกันเป็นเวลา 9 คืน เพื่อให้กำเนิดคณะศิลปเทวีเรียกว่ามิวส์ 9 องค์ เทพอัปสรทั้ง 9 องค์นี้มีความเชี่ยวชาญทางด้านศิลปการละครและการแสดงต่างๆ มีหน้าที่สร้างความอภิรมย์ให้บรรดาเทพในโอลิมปัส และผลงานชิ้นแรกของมิวเซสก็คือการแต่งเพลงฉลองที่เหล่าเทพมีชัยในศึกไททัน
รายชื่อของมิวส์ทั้งเก้า คือ
ไคลโอ (Clio) เทวีประวัติศาสตร์
ยูเรเนีย (Urania) เทวีดาราศาสตร์
เมลโพมีนี (Melpomene) เทวีเรื่องโศกนาฏกรรม
ธาเลีย (Thalia) เทวีเรื่องสรวล
เทิร์ปซิโครี (Terpsichore) เทวีการฟ้อนรำ
คัลลิโอพี (Colliope) เทวีบทกวีเรื่อง
เออราโต (Erato) เทวีบทกวีรัก
ยูเทอร์พี (Euterpe) เทวีบทกวีร้อง
โพลิฮิมเนีย (Polyhymnis) เทวีบทกวีร่ายอาศิรพจน์ (คำอวยพร) ลีโต
ชายาองค์ที่หกของซูส คือ ลีโต ธิดาของไททันซีอัสกับฟีบี
ความสัมพันธ์ของซูสกับนางลีโตนี้คงเป็นไปแบบลับๆ เพราะเมื่อนางลีโตเริ่มตั้งครรภ์ซูสก็เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับพระนางเฮร่า
พระนางเฮร่าเริ่มบทมเหสีขี้หึงกับลีโต โดยการขับไล่ลีโตลงจากสวรรค์ แถมยังส่งงูร้ายชื่อ ไพธอน ตามไล่ล่าอีก ซูสก็ได้แต่บอกให้เทพแห่งลมเหนือช่วยพัดหอบพาลีโตหนีงูร้ายจนสุดแผ่นดิน
สุดท้ายลีโตก็ตัดสินใจหนีลงทะเลทั้งที่มีครรภ์ใกล้คลอดเพื่อให้พ้นจากงูร้าย
เทพสมุทรโพไซดอนเห็นก็สงสาร จึงเนรมิตเกาะให้เป็นที่อยู่อาศัย ชื่อว่า เกาะดีลอส
ณ ที่นั้น ลีโตได้ให้กำเนิดโอรสและธิดาแฝด คือ อพอลโล เทพสุริยัน กับอาร์เทมีส เทพธิดาจันทรา โดยอพอลโลนั้นเกิดก่อนอาร์เทมีส 9 วัน
และหลังจากเทพอพอลโลประสูติได้ 4 วัน เขาก็สามารถฆ่างูร้ายไพธอนลงได้ ทำให้ลีโตปลอดภัยจากความขี้หึงของพระนางเฮร่าตั้งแต่บัดนั้น ไมอา
ชายาองค์ที่เจ็ดคือ ไมอา (Maia) ธิดาคนโตในจำนวนเจ็ดคนของแอตลาสกับนางพลีโอนี ไมอาเป็นคนสวย เรียบร้อย และขี้อาย อาศัยอยู่ในถ้ำไซลีนี แต่ซูสก็เห็นนางจนได้และลักลอบมาได้นางเป็นชายาจนให้กำเนิดโอรสชื่อ เฮอร์มีส
ไมอา กับ โอรสเฮอร์มีส ไม่ได้ถูกพระนางเฮร่าตามอิจฉาหรือกลั่นแกล้งเหมือนชายาองค์อื่น นอกจากนี้เมื่อชายาอีกคนหนึ่งของซูส คือ คัลลิสโต ถูกฆ่าตาย เฮอร์มีสก็ได้นำลูกชายของคัลลิสโตชื่อ อาร์คัส มาให้พระมารดาไมอาเลี้ยงดูด้วย เฮร่า
ชายาองค์ที่แปด คือ เทพีเฮร่า พระพี่นางของซูสเอง เป็นมเหสีของมหาเทพอย่างเป็นทางการ
เทพีเฮร่านั้นเป็นเทพีที่สวยมาก ถึงขั้นสวยที่สุด 1 ใน 3 ของบรรดาเทพีสวรรค์ สามเทพีสวรรค์ที่สวยที่สุดจนเทพทั้งหลายไม่อาจตัดสินแพ้ชนะได้ประกอบด้วย เฮร่า อาธีนา และอโฟรไดต์
ซูสจึงตามจีบตามตื้อเทพีเฮร่าอยู่นานถึง 300 ปี ฝ่ายเทพีเฮร่าก็คอยหลีกหนีเพราะรู้ว่าซูสนั้นเจ้าชู้เป็นที่หนึ่ง แต่ด้วยอุบายของซูสที่แปลงร่างเป็นนกบินฝ่าสายฝนที่พระองค์เนรมิตขึ้นมาเองบินมาตกตรงหน้าเทพีฮีราและทำท่าอ่อนแรงใกล้ตาย เทพีเฮร่าสงสารจึงจับนกขึ้นมากอดไว้แนบอก ซูสได้ทีแปลงร่างกลับเป็นมหาเทพและกอดรัดเทพีเฮร่าไว้จนดิ้นหนีไม่ออก เทพีเฮร่าจึงต้องยินยอมอภิเษกเป็นมเหสีของซูสในที่สุด
ในงานอภิเษกสมรสของซูสกับเฮร่านั้นเอง จอมมารดาไกอาได้มอบของขวัญให้แก่พระนางเฮร่าเป็นแอปเปิ้ลทองคำ 3 ผล ซึ่งพระนางก็นำไปเก็บไว้ในสวนส่วนพระองค์บนเขาแอตลาส แต่ต่อมาภายหลังเฮอร์คิวลิสก็มาโขมยไปหมดเป็น 1 ใน 12 ภาระกิจที่ยากยิ่งของเฮอร์คิวลิส ซึ่งที่มาของภาระกิจ 12 อย่างนั้นก็มีพระนางเฮร่านี้เองที่เป็นต้นเหตุ
พระนางเฮร่ามีโอรสธิดากับมหาเทพซูส 3 องค์ คือ ฮีบี้ (Hebe) อิลลิธธียา (Ilithyia) และแอรีส (Ares)
หลังอภิเษกสมรสแล้วซูสก็ยังไม่หายเจ้าชู้ ยังคงมีชายาน้อยเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นมนุษย์เนื่องจากต้องหลบให้พ้นสายตาของพระนางเฮร่าที่ตามขัดขวางอยู่ตลอด พระนางเฮร่าที่เป็นเทพีแห่งการแต่งงานจึงมีภาพพจน์เป็นเทพีขี้อิจฉาหรือเทพีขี้หึงจากบทบาทที่ต้องตามราวีชายาน้อยๆ จำนวนมากของมหาเทพนั่นเอง นางแอลก์มีนี
นางแอลก์มีนีเป็นธิดาของท้าวอีเล็กไทรอน ผู้ครองนครอาร์กอส ครั้งเมื่อชนชาติป่าเถื่อนบุกนครอาร์กอส บรรดาโอรสของท้าวอีเล็กไทรอนออกศึกก็พ่ายแพ้กันหมด ท้าวอีเล็กไทรอนจึงขอให้หลานชายคือแอมฟริไทออนมาช่วยโดยสัญญาว่าหากชนะศึกพระองค์จะยกราชธิดาให้ ซึ่งแอมฟริไทรอนก็ยินดี ในที่สุดแอมฟริไทรอนกับนางแอลก์มีนีก็ได้แต่งงานกันหลังจากชนะศึก
แต่แอมฟริไทรอนหารู้ไม่ว่าระหว่างการออกศึกนั้น มหาเทพซูสได้แอบแปลงร่างเป็นตนเองตัดหน้ามาจู๋จี๋นางแอลก์มีนีไปเสียแล้ว ดังนั้นเมื่อนางแอลก์มีนีตั้งครรภ์แฝด ทารกในครรภ์นั้นจึงเป็นบุตรของแอมฟริไทรอนคนหนึ่ง กับเป็นบุตรของซูสอีกคนหนึ่ง
แต่ก่อนที่นางแอลก์มีนีจะคลอด พระนางเฮร่าก็รู้ว่าพระสวามีแอบมามีชายาลับอยู่บนโลกมนุษย์ พระนางจึงส่งเทวีลูซินาให้แปลงกายเป็นหญิงชรามานั่งขวางประตูไว้ทำให้นางแอลก์มีนีคลอดไม่ได้ ทุรนทุรายอยู่เป็นเวลานาน ดีที่บ่าวคนหนึ่งสังเกตเห็นจึงแกล้งบอกข่าวว่านางแอลก์มีนีคลอดแล้ว เทวีลูซินาเข้าใจผิดกลับไป นางแอลก์มีนีจึงสามารถประสูตรโอรสแฝดออกมาได้
โอรสแฝดนั้นคนหนึ่งคือ อิฟฟิคลีส เป็นโอรสของ แอมฟริไทรอน ส่วนอีกคนหนึ่งคือ เฮอร์คิวลิส เป็นโอรสของมหาเทพซูส ยูโรปา
นางยูโรปาเป็นธิดาท้าวอจีนอร์ (Agenor) กรุงฟินีเซีย ซึ่งเป็นบุตรของเทพโพเซดอนกับนางลิเบีย นอกจากยูโรปาแล้ว ท้าวอจีนอร์ยังมีบุตรอีก 3 คน มีนามตามลำดับว่า แคดมัส ฟินิกซ์ และซิลิกซ์
วันหนึ่งยูโรปากับบริวารสาวๆ ไปเที่ยวเก็บดอกไม้อยู่ริมทะเล บังเอิญซูสมองเห็นเข้าก็อยากได้เป็นชายา ซูสจึงแปลงร่างเป็นโคเผือกลักษณะพ่วงพีตัวหนึ่งเดินเยื้องกรายมาหลอกล่อยูโรปา ยูโรปาเห็นโคเผือกนั้นดูเชื่องจึงเดินเข้าไปลูบหลังลูบไหล่ ฝ่ายโคเผือกก็ทำเป็นคู้เข่าเชิญชวนให้ยูโรปาขึ้นขี่หลัง พอยูโรปาขึ้นขี่หลังโคนั้นก็เผ่นโผนโจนทะยานออกสู่ทะเลในทันที
โคเผือกแปลงวิ่งตะบึงบนผิวน้ำ พายูโรปาไปเกาะครีต
ซูสอยู่กับยูโรปาชายาน้อยบนเกาะครีตจนมีโอรสด้วยกัน 3 องค์ ชื่อ ราดาแมนทีส ไมนอส และซาร์พีดอน ซึ่งต่อมาไมนอสได้ปกครองเกาะกรีต ส่วนซาร์พีดอนเสียชีวิตในสงครามกรุงทรอย
เมื่อสิ้นชีวิตแล้วท้าวไมนอสกับราดาแมนทีสได้ไปทำหน้าที่เป็นตุลาการอยู่ในยมโลก ซีมิลี
เรื่องราวของนางซีมิลีนั้นต่อเนื่องจากเรื่องราวของยูโรปา คือ
เมื่อยูโรปาหายตัวไป ท้าวอจีนอร์ก็ให้โอรสทั้งสาม คือ แคดมัส ฟินิกซ์ และซิลิกซ์ ออกติดตามหายูโรปาโดยสั่งว่าถ้าไม่พบก็ไม่ต้องกลับมา โดยงานนี้พระมารดาของทั้งสามก็ขอติดตามไปด้วย
ทั้งสี่คนออกติดตามหายูโรปา แต่ไม่ว่าจะค้นหาอย่างไรก็ไม่มีแม้แต่ข่าวคราว
ฟินิกส์เป็นคนแรกที่หมดความพยายาม พอพบถิ่นฐานที่อุดมสมบูรณ์ก็หยุดตั้งหลักปักฐาน
ซิลิกซ์เป็นคนที่สองที่เลิกตามหายูโรปา และหยุดตั้งหลักในที่สมบูรณ์อีกแห่งหนึ่ง
ต่อมาพระมารดาก็หมดแรงตามต่อไปไม่ไหว และได้สั่งให้แคดมัสออกติดตามต่อไปก่อนที่พระนางจะสิ้นใจ
แคดมัสติดตามหายูโรปาต่อไป จนวันหนึ่งเขาก็มาถึงวิหารเดลฟี ซึ่งเป็นที่บูชาเทพอพอลโล แคดมัสได้เสี่ยงทายกับเทพอพอลโล แต่คำทำนายที่ได้ไม่ทำให้แคดมัสได้รับความกระจ่างแต่อย่างใด เพราะคำทำนายนั้นบอกว่าให้แคดมัสเดินตามโคตัวหนึ่งไป เมื่อโคหยุดก็ให้แคดมัสตั้งบ้านเมืองที่นั่น
แคดมัสทำตามคำพยากรณ์นั้น เขาได้สร้างเมืองขึ้นชื่อว่า ธีบส์ และซูสมหาเทพได้ประทานนางเฮอร์ไมโอนี ธิดาของเทพแอรีสกับอโฟรไดทีมาให้เป็นชายา
แคดมัสกับเฮอร์ไมโอนี มีธิดา 4 คน คือ ซีมิลี ไอโน ออโทโนอี และอเกวี
ซีมิลีนั้นมีความสวยงามต้องตามหาเทพซูส จนซูสลักลอบหนีพระนางเฮร่าแปลงร่างเป็นมนุษย์มาได้นางเป็นชายาอยู่บ่อยๆ แต่ความลับไม่มีในโลก ในที่สุดพระนางเฮร่าก็รู้เรื่องจนได้
พระนางเฮร่าได้แปลงองค์เป็นพี่เลี้ยงชราของซีมิลี และแกล้งซักถามซีมิลีว่าคนรักของนางเป็นใคร ซึ่งซีมิลีก็ตอบด้วยความซื่อว่าเป็นมหาเทพซูส
พระนางเฮร่าจึงยุให้นางซีมิลีขอดูองค์มหาเทพในร่างจริง และบอกว่าก่อนขอต้องให้มหาเทพสาบานกับแม่น้ำสติกซ์เสียก่อน
นางซีมิลีหลงเชื่อคำยุ เมื่อเจอหน้ามหาเทพจึงเอ่ยปากขอให้ซูสสาบานกับแม่น้ำสติกซ์ว่าพระองค์จะประทานสิ่งที่นางขออย่างหนึ่ง ซึ่งมหาเทพก็สาบาน จากนั้นนางซีมินีก็ขอดูร่างพระสวามีในร่างเทพ
มหาเทพซูสตกใจด้วยรู้ว่าหากพระองค์ปรากฎในร่างมหาเทพ นางซีมิลีจะทนรัศมีของพระองค์ไม่ได้และจะมอดไหม้เป็นจุนไป แต่เมื่อสาบานกับแม่น้ำสติกซ์แล้วมหาเทพก็ไม่อาจทวนคำสาบานได้
มหาเทพจำเป็นต้องปรากฎองค์ในร่างเทพ ซึ่งนางซีมิลีทนรัศมีของมหาเทพไม่ได้ก็มอดไหม้ตายไป และวิญญานก็ลงไปอยู่ยมโลก
ในขณะนั้น นางซีมิลีกำลังตั้งครรภ์อยู่ แม้จะช่วยนางซิมิลีไม่ได้ แต่มหาเทพซูสก็ช่วยทารกในครรภ์ได้โดยคว้าเอาทารกนั้นมาเก็บไว้ในเข่าของตนเอง ภายหลังทารกนี้ได้คลอดออกมาชื่อว่าไดโอนีซุส และเทพเฮอร์มีสได้รับเอาไดโอนีซุสนี้ไปให้นางอัปสรที่ทุ่งนีสาเลี้ยงไว้
ไดโอนีซุสเป็นกึ่งมนุษย์กึ่งเทพ แต่หนักไปทางเทพมากกว่าจึงมีความเป็นอมตะดั่งเทพ แต่ก็ชอบเดินทางท่องเที่ยวบนผืนแผ่นดินดังเช่นมนุษย์
ไดโอนีซุสเป็นเทพแห่งเหล้าองุ่น และเป็นที่ยอมรับของพระนางเฮร่า เพราะเมื่อครั้งเฮเฟตัสทำเก้าอี้กลจับพระนางมัดติดเก้าอี้ไว้ เทพเฮอร์มีสไปเกลี้ยกล่อมก็ไม่สำเร็จ พอไดโอนีซุสไปเกลี้ยกล่อมบ้าง เฮเฟตัสก็ยินยอมปล่อยพระมารดา ตั้งแต่นั้นพระนางเฮร่าจึงยอมรับไดโอนีซุส
เนื่องจากไดโอนีซุสมีเชื้อสายมนุษย์ด้วย เมื่อครั้งต้องต่อสู้กับไททัน ไดโอนีซุสก็ถูกจับฉีกร่างจนเสียชีวิต วิญญานไดโอนีซุสล่องลอยลงไปในยมโลกและได้พบกับนางซิมิลีมารดา
ไดโอนีซุสจะพาซิมิลีขึ้นสวรรค์ แต่เทพฮาเดสไม่ยอม ทั้งสองจึงเถียงกันว่าใครจะเหนือกว่าใคร ไดโอนีซุสบอกว่าตนเองเหนือกว่าเพราะตายได้ดั่งมนุษย์ แต่ฟื้นได้เพราะเป็นอมตะแบบเทพ เทพฮาเดสยอมแพ้ จึงยอมให้ไดโอนีซุสพามารดากลับไปได้
ไดโอนีซุสจึงพานางซิมิลีขึ้นไปอยู่บนโอลิมปัส จึงนับว่านางเป็นเพียงมนุษย์หนึ่งเดียวที่เป็นอมตะ และอยู่บนโอลิมปัสเช่นเดียวกับเหล่าเทพ ไอโอ
ไอโอ เป็นธิดาของท้าวอินนะคัสเจ้าเมืองอาร์กอสโอรสของเทพไททันโอเชียนัสกับเทวีธีทิส เมื่อโตขึ้นไอโอได้ทำหน้าที่เป็นผู้ทำพิธีบวงสรวงเทพีเฮร่า
ซูสเห็นความงามของไอโอก็ลอบมาได้นางเป็นชายา และเพื่อปกปิดให้รอดพ้นสายตาของพระนางเฮร่า เวลาที่ซูสมาหาไอโอพระองค์ก็จะเนรมิตเมฆหมอกปกคลุมเอาไว้
แต่ความลับนี้ไม่สามารถเก็บไว้ได้ตลอด เพราะวันหนึ่งพระนางเฮร่าได้แอบติดตามซูสมาและเกิดสงสัยเมฆหมอกเนรมิตนั้น พระนางจึงใช้ฤทธิ์ขับไล่เมฆหมอกให้จางหายไป
ซูสต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการแปลงร่างไอโอให้กลายเป็นโคและบอกพระนางเฮร่าว่าพระองค์เนรมิตโคนี้ขึ้นเองจากก้อนดิน ซึ่งพระนางเฮร่ารู้ทันจึงเอ่ยปากขอโคจากพระสวามี ซูสจึงต้องจำใจมอบโคให้พระนางเฮร่าเพราะเกรงว่าความลับจะแตก
พระนางเฮร่าได้นำโคแปลงนั้นไปให้อาร์กัสผู้มีตาร้อยดวงเฝ้าไว้ป้องกันซูสมาพานางกลับไป แต่ซูสก็คิดหาทางแก้ไขได้โดยการให้เฮอร์มีสไปกำจัดอาร์กัสเสีย
เฮอร์มีสจำแลงกายเป็นเด็กเลี้ยงแกะ ไปเป่าปี่ต้นอ้อและเล่านิทานให้อาร์กัสฟัง ซึ่งอาร์กัสก็เกิดความเคลิบเคลิ้มเผลอหลับไป เฮอร์เมสจึงฆ่าอาร์กัสตายและปลดปล่อยไอโอได้สำเร็จ พระนางเฮร่าจึงได้นำดวงตาของอาร์กัสไปติดไว้ที่หางนกยูงจนทำให้หางนกยูงมีลวดลายรูปดวงตาจนถึงทุกวันนี้
เคราะห์กรรมของไอโอยังไม่สิ้น เพราะพระนางเฮร่าได้ร่ายมนต์ป้องกันไม่ให้นางคืนร่างเป็นมนุษย์ แถมยังส่งเหลือบมากัดไอโอในร่างโคให้ทรมานอีกด้วย
ไอโอกระเซอะกระเซิงไปทั่ว ทั้งแถบทะเลไอโอเนีย ที่ราบอิลลิเรีย เขาฮีนัส ข้ามช่องแคบบอสฟอรัส
วันหนึ่งไอโอขึ้นไปถึงยอดเขาคอเคซัส ได้พบกับเทพโพรมีเธอุสที่ถูกซูสลงโทษจองจำอยู่บนหน้าผาเพราะเหตุขโมยไฟจากสวรรค์มาให้มนุษย์ใช้ โพรมีเธอุสได้ช่วยทำนายว่าไอโอจะคืนร่างเป็นมนุษย์ได้เมื่อเดินทางถึงแม่น้ำไนล์ ไอโอจึงดั้นด้นเดินทางต่อไปจนถึงแม่น้ำไนล์
ขณะเดียวกัน ซูสก็อ้อนวอนง้องอนเทพีเฮร่าจนพระนางใจอ่อนยอมคลายมนต์ให้ ไอโอจึงได้คืนร่างกลับเป็นคนที่แม่น้ำไนล์นั่นเอง
ณ ที่นั้น ไอโอได้ให้กำเนิดโอรสชื่อ เอพาฟัส ซึ่งต่อมาได้ตั้งนครที่มีชื่อเสียงในอียิปต์ ชื่อว่า นครเมมฟิส และเชื้อสายรุ่นที่ 11 ของเอพาฟัสคนหนึ่งเป็นวีรบุรุษคนสำคัญ ชื่อว่า เฮอร์คิวลิส ได้กลับมาช่วยปลดปล่อยโพรมีเธอุสให้เป็นอิสระได้ ไดโอนี
ไดโอนี เป็นธิดาของเอปิธิอุส เป็นชายาอีกองค์หนึ่งของซูส
ตำนานของไดโอนีค่อนข้างสับสน ชาวกรีกโบราณนับถือว่าไดโอนีเป็นมเหสีของซูสก่อนที่พระนางเฮร่าจะได้ตำแหน่งนี้ไปครองแทนในภายหลัง
และบางตำนานก็ว่าเทพีอโฟรไดต์นั้นเป็นธิดาของซูสกับไดโอนีด้วย ซิลีน
ซิลีนเป็นธิดาของเทพไททันไฮเพอร์เรียนกับเธีย เป็นเทพธิดาดูแลวิถีโคจรของดวงจันทร์ เป็นเทพธิดาที่ได้ชื่อเรื่องรักๆ ใคร่ๆ
ซิลีนเป็นชู้รักองค์หนึ่งของซูส แต่ชู้รักที่ซิลีนรักมากที่สุดนั้นคือ เอนดีเมียน หนุ่มเลี้ยงแกะ ซิลีนถึงขนาดขอพรจากซูสเพื่อบันดาลให้เอนดิเมียนนอนหลับไปตลอดกาลเพื่อจะได้ไม่แก่ไม่ตาย และนางก็ลงมาหาเขาได้ทุกค่ำคืน
แต่บางตำนานกล่าวถึงความรักกับหนุ่มเลี้ยงแกะแอนดีเมียนนี้ว่าเป็นเทพีอาร์เทมีส ไม่ใช่ซิลีน ตำนานนี้ค่อนข้างสับสนเนื่องจากทั้งซิลีนและอาร์เทมีสต่างก็เป็นเทพีแห่งจันทราเหมือนกัน เพียงแต่คนละยุคกันเท่านั้น คัลลิสโต
คัลลิสโต เป็นนางอัปสรบริวารคนสนิทของเทพีอาร์เทมีส เธอดำรงความเป็นสาวบริสุทธิ์เหมือนเทพีอาร์เทมีส และชอบล่าสัตว์เหมือนเทพีอาร์เทมีส เมื่อซูสเกิดต้องตาคัลลิสโตเข้า พระองค์จึงต้องใช้อุบายแปลงร่างเป็นอาร์เทมีสเข้าไปหานาง และได้นางเป็นชายา
เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ คัลลิสโตก็พยายามปกปิดไม่ให้เทพีอาร์เทมีสรู้ แต่วันหนึ่งขณะที่อาบน้ำด้วยกันเทพีอาร์เทมีสเห็นท้องของคัลลิสโตก็รู้ว่านางสูญเสียความบริสุทธิ์ไปแล้ว เทพีอาร์เทมีสจึงเนรเทศนางออกไป
คัลลิสโตให้กำเนิดโอรสตามลำพัง ขณะนั้นพระนางเฮร่าที่คอยทีอยู่เมื่อเห็นว่าคัลลิสโตอยู่ตามลำพังก็ลงมาสาบนางให้เป็นหมี
ส่วนโอรสของคัลลิสโตนั้นเทพเฮอร์มีสได้พาไปให้นางไมอา มารดาของพระองค์ช่วยเลี้ยงดู โอรสองค์นั้นชื่อว่าอาร์คัส ซึ่งแปลว่าหมี และเมื่อโตขึ้นอาร์คัสก็ได้เป็นนายพรานตามรอยมารดาของตน
ต่อมาวันหนึ่งอาร์คัสเข้าป่าล่าสัตว์ นางคัลลิสโตเห็นบุตรของตนเองก็จำได้จึงเข้ามาหา อาร์คัสตกใจจึงใช้หอกแทงคัลลิสโตในร่างของหมีตาย ซูสจึงบันดาลให้คัลลิสโตกลายเป็นกลุ่มดาวหมีใหญ่อยู่บนฟ้า และให้อาร์คัสบุตรชายกลายเป็นดาวหมีเล็กอยู่เคียงข้างกัน
พระนางเฮร่านั้นยังไม่หายโกรธชายาน้อยองค์นี้ของซูส พระนางจึงได้ให้ทีธิสช่วยลงโทษสองแม่ลูกที่ตอนนี้กลายเป็นดาวบนฟ้าไปแล้วให้ด้วย ซึ่งทีธิสก็บันดาลให้ดาวหมีใหม่และหมีเล็กลอยอยู่บนฟ้าตลอดเวลา ไม่มีโอกาสลงมาพักบนโลกตลอดกาล และนี่เองที่เป็นสาเหตุให้กลุ่มดาวหมีใหญ่และดาวหมีเล็กต้องลอยล่องอยู่บนฟ้าตลอดปี ไม่มีช่วงเวลาที่ลับขอบฟ้าเหมือนดาวดวงอื่นๆ ลีดา
นางลีดาเป็นธิดาของเจ้าเมืองเธสพิอัส และเป็นมเหสีของท้าวทินดาริอุส เจ้าผู้ครองนครสปาร์ต้า
วันหนึ่งหลังจากตั้งครรภ์กับท้าวทินดาริอุสได้ไม่กี่วัน นางลีดาก็ลงไปอาบน้ำในแม่น้ำยุโรทาส และบังเอิญที่มหาเทพซูสมองลงมาเห็นเธอเข้า และเกิดอาการเจ้าชู้กำเริบ
ซูสวางแผนแปลงร่างเป็นหงส์บินหนีนกอินทรีโผไปซบอกนางลีดา นางลีดาก็โอบกอดหงส์แปลงนั้นและขับไล่นกอินทรีไป ซึ่งก็เป็นไปตามแผนของซูส
ซูสจึงได้นางลีดาเป็นชายา
เมื่อครบกำหนดคลอด ลีดาก็ให้กำเนิดไข่สองฟอง ฟองหนึ่งแตกออกมาเป็นหญิงชายแฝด หญิงชื่อ ไคลเทมเนสตรา และชายชื่อ คาสเตอร์ ทารกคู่นี้เป็นโอรสธิดาของท้าวทินดาริอุส
ไข่อีกฟองหนึ่งแตกออกมาก็เป็นหญิงชายแฝดเช่นกัน หญิงชื่อ เฮเลน ส่วนชายชื่อ พอลลักซ์ ทารกคู่นี้เป็นโอรสและธิดาของมหาเทพซูส
เฮเลนนี้เป็นหญิงสาวที่สวยที่สุดในโลก ซึ่งต่อมาเป็นต้นเหตุให้เกิดมหาสงครามแห่งกรุงทรอย เลเมีย
เลเมีย (Lamia) เป็นธิดาของโพไซดอนกับนางไลบี เป็นชายาที่ซูสหลงรักมากคนหนึ่ง
เมื่อพระนางเฮร่ารู้ว่าซูสมาได้นางเป็นชายา พระนางก็ได้ตามมาฆ่าลูกของเลเมียจนตาย และสาบให้เลเมียกลายเป็นปีศาจ มีหน้าและนมเป็นผู้หญิง ส่วนร่างกายเป็นงู และต้องทนทุกข์ทรมานเนื่องจากถูกสาบให้ไม่สามารถหลับตาได้
ด้วยความสงสาร ซูสจึงให้พรให้เลเมียสามารถถอดและใส่ดวงตาได้ตามที่ต้องการ
เลเมียที่น่าสงสารกลายเป็นปิศาจร้ายที่คอยลักพาเด็กไปกิน เนื่องจากความพยาบาทที่ลูกของนางถูกฆ่าตายนั่นเอง ดาเน่
ดาเน่ เป็นราชธิดาของกษัตริย์ อกริเซียส แห่งนครอาร์กอส
กษัตริย์อกริเซียสนั้นไม่มีโอรส จึงได้ไปขอคำพยากรณ์จากวิหารเทพอพอลโล คำพยากรณ์ที่ได้บอกว่าพระองค์จะถูกโอรสของนางดาเน่ราชธิดาฆ่าตาย พระองค์จึงขังนางดาเน่ไว้บนยอดหอคอยทองเหลืองเพื่อป้องกันไม่ให้ราชธิดาสาวสวยได้พบกับชายหนุ่มคนใด
แต่การอยู่บนหอคอยสูงกลับทำให้ความสวยงามของเจ้าหญิงดาเน่ไปเตะตามหาเทพซูสเข้า พระองค์จึงเสด็จลงมาหาและได้นางเป็นชายา
วันหนึ่งเจ้าหญิงดาเน่ก็ประสูติโอรสนามว่า เพอร์ซีอุส เสียงร้องของทารกดังจากยอดหอคอยไปถึงท้าวอกริเซียส ท้าวอกริเซียสไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะคนหนึ่งก็ลูกคนหนึ่งก็หลาน ก็เลยจับสองแม่ลูกลอยทะเลไป
แพน้อยลอยทะเลไปเกยหาดที่เกาะเซอริฟัส และท้าวโพลิเดคทิส เจ้าเกาะนั้นก็รับสองแม่ลูกให้อยู่อาศัยด้วย
ท้าวโพลิเดคทิสนั้นอยากได้นางดาเน่เป็นชายา แต่นางดาเน่ก็บ่ายเบี่ยงเรื่อยมาจนเพอร์ซีอุสเติบโตเป็นหนุ่มใหญ่ ท้าวโพลิเดคทิสเห็นว่าเพอร์ซีอุสจะเป็นคนขัดขวางไม่ให้พระองค์สมหวังในตัวนางดาเน่ จึงออกอุบายให้เพอร์ซีอุสไปตัดหัวเมดูซ่ามาถวาย
เพอร์ซีอุสไปฆ่าและตัดหัวเมดูซ่ากลับมาได้ และได้ภรรยาชื่อ อันโดรเมดา กลับมาด้วย เขาเอาหัวเมดูซ่าให้ท้าวโพลิเดคทิสดู ท้าวโพลิเดคทิสจึงกลายเป็นหินไป
จากนั้นเพอร์ซีอุสก็พานางดาเน่กลับบ้านเมือง ซึ่งพอท้าวอกริเซียสรู้ว่าลูกสาวกับหลานชายเดินทางกลับเมืองก็กลัวว่าคำทำนายจะเป็นจริง จึงแอบเดินทางไปหลบที่กรุงลาริสสา
และที่กรุงลาลิสสานั้นเองได้มีงานจัดงานแข่งขันกีฬากันอยู่ เพอร์ซีอุสผ่านมาก็แวะเข้าร่วมแข่งขันกีฬากับเขาด้วย กีฬาที่เพอร์ซีอุสเข้าร่วมแข่งขันคือขว้างจักร
ด้วยพละกำลังมหาศาลของเพอร์ซีอุส จักรที่เขาขว้างลอยละลิ่วไปตกบนอัฒจันทร์คนดู และถูกศีรษะของชายชราผู้หนึ่งถึงแก่ความตาย
ชายชราผู้นั้นคือท้าวอกริเซียส เอคโค
เอคโค (Echo) เป็นนางไม้ที่ไม่ได้เป็นชายาของซูส แต่โดนลูกหลงความขี้หึงจากพระนางเฮร่า เนื่องจากมื่อพระนางเฮร่าตามหาสวามีจอมเจ้าชู้บนโลกมนุษย์ นางเอคโคได้เข้ามาพูดนอกเรื่องนอกราวเสียยืดยาวจนพระนางเฮร่าตามพระสวามีไม่ทัน พระนางจึงสาบให้เอคโคพูดเองไม่ได้ ได้แค่พูดทวนคำพูดของคนอื่นเท่านั้น  

มหากาพย์เทวตำนานกรีก-โรมัน

เทวตำนานเป็นตำนานเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับเทพเจ้า การสร้างโลกและจักรวาลมนุษย์ในอดีตประพันธ์ขึ้นเพื่อใช้อธิบายการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น เช่น การเกิดฟ้าผ่า ฟ้าร้อง แผ่นดินไหว เป็นต้น
มีเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เข้ามาเกี่ยวข้อง มีตำนานย่อยเล่าขานที่มีตัวเอกเป็นวีรบุรุษหรือมนุษย์กึ่งเทพ


เทพเจ้ากรีก-โรมันมีมากมายหลายสิบองค์ เทพหลายองค์มีความสัมพันธ์กับทั้งเทพและมนุษย์ จึงเกิดทายาทเป็นทั้งเทพ มนุษย์กึ่งเทพและอมนุษย์อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งแต่ละองค์ คนและตนต่างก็มีบทบาทต่อโลกมนุษย์เป็นอย่างมาก


เทพกรีก-โรมันแห่งโอลิมปัส มีด้วยกัน 16 องค์ แต่ในปัจจุบันนับแค่ 12 องค์
1.ซุส (Zeus) เทพแห่งท้องฟ้าแห่งสายฝน ซุสหรืออีกชื่อในโรมันคือจูปิเตอร์ เป็นราชาแห่งทวยเทพและโลกมนุษย์ มีพี่น้องร่วมปกครองโลกด้วยกัน 5 องค์ คือ เทพีเฮสเทีย เทพีดิมิเทอร์ เทพีเฮร่า เทพฮาเดส และเทพโพไซดอน
2.เทพโพไซดอน (Poseidon) เทพแห่งท้องทะเล เป็นพี่ชายของซุสสัญลักษณ์ของพระองค์คือ “สามง่าม” หรือ “ตรีศูล” เทพผู้เขย่าพื้นพิภพ ผู้บัลดาลให้เกิดพายุ บิดาแห่งม้า
3. ดิมิเทอร์ (Demeter) เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรรม การเก็บเกี่ยว
4. เฮรา (Hera) ราชินีแห่งสวรรค์ เป็นทั้งพี่สาวของซุสและเป็นภรรยาด้วย เฮร่าเป็นเทพีแห่งการให้กำเนิดทารก การสมรส สตรี สัตว์ประจำพระองค์คือนกยูง
5. เฮสเทีย (Hestia) เทพีพรมจรรย์แห่งการครองเรือน เทพแห่งครอบครัว ในฐานะของเทพีผู้รักษาบ้าน พระนางเป็นผู้ที่สร้างบ้านขึ้นเป็นคนแรก วิหารของพระนางอยู่ที่กรุงโรม ซึ่งจะได้รับการบวงสรวงจากสาวพรหมจารี พระนางมีสัญลักษณ์เป็นไฟนิรันดร
6. แอรีส (Ares) เทพแห่งสงคราม บุตรของ ซูส กับ เฮร่า สัตว์ประจำพระองค์คือเหยี่ยวและสุนัขมังกรไฟ (บางตำราว่าเป็นนกแร้ง) เทพองค์นี้มีเทพที่เป็ยน้องสาว ชื่อว่า อีริส เธอคือเทพีแห่งการวิวาท
7. อะพอลโล (Apollo) เทพเจ้าแห่งการทำนาย กีฬา การรักษาโรคภัย การดนตรี และ เป็นเทพแห่งพระอาทิตย์ เป็นบุตรแห่ง ซีอุส และ เทพีเลโต (Leto) มีน้องสาวฝาแฝดชื่อ อาร์เทมิส (Artemis) อะพอลโล่มีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์คือ ต้นลอเรล Laurel สัตว์ศักดิ์สิทธิ์คือนกกาเหว่าและห่าน เครื่องดนตรีประจำพระองค์คือพิณ วิหารศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์อยู่ที่เดลฟี่ Delphi ซึ่งที่นั่นจะมีนักบวชคอยบอกคำทำนายของพระองค์ให้แก่ประชาชนที่มาสักการบูชา
8. อาร์เทมีส (Artemis) เทพีแห่งดวงจันทร์และการล่าสัตว์ เป็นบุตรีของซูสและ เทพีเลโต เป็นน้องสาวแฝดของอะพอลโล่ พระองค์เป็นเทพีพรหมจรรย์องค์หนึ่งใน 3 องค์ ภาพที่ผู้คนเห็นอยู่เสมอๆ คือพระองค์จะถือธนูและศร มีสุนัขติดตาม สวมกระโปรงสั้น บางครั้งอาจเห็นเธออยู่บนรถศึกเทียมด้วยกวางขาว
9. เฮอร์มีส (Hermes) เทพแห่งการค้า การโจรกรรม และผู้ส่งสารของเหล่าทวยเทพ เป็นบุตรของ ซูส กับ เทพธิดาไมอา เทพไททัน พระองค์มักจะปรากฏกายในลักษณะสวมหมวกขอบกว้าง สวมรองเท้ามีปีก ถือคทาที่มีงูพัน ชื่อ คะดูเซียสซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการแพทย์
10. อาธีน่า (Athena) หรืออีกนามหนึ่ง มิเนอร์วา Minerva เทพีแห่งความเฉลียวฉลาด และศิลปศาสตร์ทุกแขนงของกรีกรวมถึงศิลปะการต่อสู้ด้วย ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์คือต้นมะกอก
เทพีอธีน่า เป็นผู้ที่มอบมะกอกให้กับมนุษย์เป็นองค์แรก ทำให้เมือง Athens ได้ใช้ชื่อของพระองค์เป็นชื่อเมืองเพื่อเป็นเกียรติ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของเธอได้แก่ นกฮูก
11. อะโฟรไดท์ (Aphrodite) เทพีแห่งความรักและความงาม เป็นบุตรีของ ซูส กับ เทพีไดโอนี่ (บางตำราว่าเกิดจากฟองคลื่น) สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของเธอได้แก่นกกระจอก นกนางแอ่น ห่าน และเต่า ส่วนดอกไม้และผลไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระนางได้แก่กุหลาบ Myrtle และแอปเปิล กล่าวกันว่าพระนางเป็นเทพีผู้คุ้มครองเหล่าโสเภณีด้วย นางได้สมรสกับเฮเฟสทัส เทพแห่งการช่างที่ทีรูปร่างอัปลักษณ์ จึงได้มีสัมพันธ์ชู้สาวกับแอเรส หรือมาร์ส เทพแห่งสงคราม ต่อมาได้มีบุตรชื่อคิวปิด(อิรอส)เทพแห่งความรัก และบุตรคนเล็ก แอนติรอส เทพผู้บันดานให้เกิดความรักตอบ
12. เฮเฟสตัส (Hephaestus) เทพแห่งไฟ โลหะ และการช่าง เป็นบุตรของ ซูสกับเฮร่า (บางตำราว่าเป็นบุตรของ Hera ผู้เดียว) พระองค์เป็นเทพที่พิการและอัปลักษณ์
13. ไดโอนีซุส (Dionysus) เทพแห่งไวน์ การทำไวน์ และการเก็บเกี่ยวผลไม้ และยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพแห่งละครอีกด้วย
14. เพอร์ซิโฟเน เทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิ ธิดาของเทพีดีมิเทอร์ซึ่งถูกฮาเดสจับตัวไปเป็นภรรยาได้รับอนุญาตให้กลับขึ้นนมาบนโลกได้ปีละไม่กี่ครั้ง และการกลับขึ้นมาแต่ละครั้งก็คือการเปลี่ยนฤดูนั่นเอง
15. อีรอส (Eros) กามเทพ รู้จักกันดีในภาษาโรมันว่า คิวปิด Cupid เป็นบุตรแห่งเทพีความรัก อะโฟร์ไดต์และเทพการศึกสงคราม แอเรส
16. ฮาเดส (Hades) หรือเฮเดส (อีกนามหนึ่งคือ เฮดีส Hedes) ชื่อในภาษาโรมัน'พลูโต' เทพแห่งใต้พิภพยมโลก และเป็นเทพดูแลอัญมณีใต้ดิน ชาวกรีกบูชาพระองค์ก่อนเสมอที่จะลงมือทำเหมืองแร่

ปัจจุบันได้จัดให้มีแค่ 12 องค์ เพราะ ตามตำราบางเล่มบอกไว้ว่าเทพรุ่นที่ 3 มีแค่ 12 องค์