วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

อพอลโล (Apollo) สุริยเทพและเทพแห่งการดนตรี

อพอลโล เป็นโอรสของนางลีโต กับซูส
เมื่อเทพีเฮร่ายินยอมอภิเษกสมรสกับซูสแล้ว ข่าวนางลีโตตั้งครรภ์กับซูสก็มาเข้าหู เทพีเฮร่าจึงแสดงบทเทพีขี้หึงขับไล่ลีโตลงจากสวรรค์ และส่งงู ไพธอน ตามไล่ล่า
ลีโตหนีหัวซุกหัวซุนจนสุดแผ่นดิน สุดท้ายก็ตัดสินใจหนีลงทะเลเพื่อให้พ้นจากงูร้าย บังเอิญเทพสมุทรโพไซดอนเห็นเข้าก็สงสาร จึงเนรมิตเกาะให้นางเป็นที่อยู่อาศัย ชื่อว่า เกาะดีลอส
ณ ที่นั้น ลีโตได้ให้กำเนิดโอรสและธิดาแฝด คือ อพอลโล เทพสุริยัน กับอาร์ทีมิส เทพธิดาจันทรา โดยอพอลโลนั้นเกิดก่อนอาร์ทีมิส 9 วัน
 
และหลังจากเทพอพอลโลประสูติได้ 4 วัน เขาก็สามารถฆ่างูร้ายไพธอนลงได้ ทำให้ลีโตปลอดภัยจากความขี้หึงของพระนางเฮร่าตั้งแต่บัดนั้น และอพอลโลก็ได้ชื่อว่า ไพธูส (Pytheus) ซึ่งแปลว่า "ผู้ประหารไพธอน" ด้วยอีกชื่อหนึ่ง
อพอลโลเป็นเทพที่มีรูปงามยิ่ง เป็นนักดนตรีผู้ขับกล่อมเทพทั้งปวงบนเขาโอลิมปัสด้วยพิณ เป็นเทพขมังธนู ที่สามารถยิงธนูได้ทั้งแม่นและไกล และเป็นเทพแห่งสัจธรรม
ชาวกรีกนับถือเทพอพอลโลมาก จึงมีวิหารที่บูชาเทพอพอลโลนจำนวนมาก แต่ที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ วิหารเดลฟี
ครั้งหนึ่ง เฮอร์คิวลิส ได้ไปขอคำพยากรณ์ที่วิหารเดลฟี แต่คำทำนายที่ได้รับไม่ถูกใจ เฮอร์คิวลิสจึงล้มโต๊ะพิธีและฉวยเอากระถางธูปไปด้วย เทพอพอลโลติดตามไปท้าเฮอร์คิวลิสเล่นมวยปล้ำเพื่อชิงเอากระถางธูปคืน แต่ปล้ำกันอยู่นานก็ไม่อาจรู้แพ้ชนะกันได้ จนซูสต้องเสด็จลงมาไกล่เกลี่ยให้เฮอร์คิวลิสคืนกระถางธูปไปเรื่องจึงยุติลงได้
เทพอพอลโลแม้จะเป็นเทพแห่งสัจธรรม แต่บางครั้งก็มีนิสัยดุร้ายดังเช่นที่เห็นจากกรณีของนางไนโอบี
เหตุเกิดเพราะนางลีโต มารดาของเทพอพอลโลกับเทพีอาร์ทีมิส ชอบคุยโอ้อวดในความงามและความเก่งกาจของเทพบุตรเทพธิดาทั้งสองอยู่เสมอ แต่ถูกนางไนโอบีมเหสีเจ้ากรุงธีบส์หัวเราะเยาะว่านางลีโตนั้นมีโอรสและธิดาเพียงแค่ 2 องค์ ไม่อาจสู้นางได้ที่มีโอรสและธิดาที่ทั้งรูปงามและฉลาดรวมถึง 14 องค์
 
นางไนโอบีกล่าววาจาสบประมาทนางลีโตเป็นอันมาก ซ้ำยังห้ามชาวเมืองทำการบูชาเทพอพอลโลและเทวีอาร์ทีมิส รวมทั้งสั่งให้ทำลายรูปเคารพเทพและเทพีคู่นี้จากแท่นที่บูชาด้วย
นางลีโตโกรธแค้นมากที่ถูกหยามถึงเพียงนี้ นางจึงเรียกเทพอพอลโลและเทพีอาร์ทีมิสมาและสั่งให้ทั้งสองไปฆ่าโอรสและธิดาของนางไนโอบีเสียให้สิ้นซาก
อพอลโลและอาร์ทีมิสนั้นโกรธแค้นอยู่แล้วที่รูปเคารพของตนถูกทำลาย ทั้งสองจึงออกตามฆ่าโอรสและธิดาของนางไนโอบีจนหมดสิ้น
เมื่อโอรสและธิดาสิ้นชีวิตลงหมด เจ้ากรุงธีบส์ก็เลยพลอยฆ่าตัวตายตามไปด้วย
นางไนโอบีสูญสิ้นทั้งสามีและโอรสธิดา ความโศกเศร้ารันทดประดังขึ้นมาจนร่างนางแข็งชาไปทั้งร่าง
ในที่สุดนางไนโอบีก็กลายเป็นหินร้องไห้อยู่บนเขาไซปิลัสจนถึงทุกวันนี้

 
อพอลโลนั้นเป็นเทพบุตรรูปงาม และเจ้าชู้ เรื่องราวความรักของพระองค์มีทั้งสมหวังและผิดหวัง มีทั้งที่พระองค์ไปหลงรักเขาข้างเดียว และที่ฝ่ายหญิงมาหลงรักพระองค์อยู่ข้างเดียวก็มี
ชายาองค์หนึ่งของอพอลโล คือ โครอนนิส (Coronis) ธิดาผู้เลอโฉมของเจ้าแคว้นเธสสะลี แต่นางโครอนนิสนั้นใจไม่ซื่อ เทพอพอลโลก็คงรู้ดีจึงได้ให้นกดุเหว่าขาวตัวหนึ่งเฝ้านางไว้
ด้วยความที่ใจไม่ซื่อ ระหว่างที่ตั้งครรภ์ นางโครอนนิสก็ยังอุตส่าห์แอบไปลักลอบคบชู้กับชายอื่น ดุเหว่าขาวจึงนำข่าวไปบอกให้อพอลโลทรงทราบ เทพอพอลโลบันดาลโทสะจึงบันดาลให้ขนของดุเหว่าขาวกลายเป็นสีดำสนิทตั้งแต่นั้น และพระองค์ก็ฆ่าโครอนนิสตาย
 
ระหว่างที่เผาศพโครอนนิส เทพเฮอร์มีสก็มาล้วงเอาทารกในครรภ์ของนางโครอนนิสออกมา และนำไปฝากให้ ไครอน (Chiron) ผู้เป็นเซนทอร์ (Centaur) เลี้ยงดู
โอรสองค์นี้ของเทพอพอลลอน ชื่อว่า เอสคิวเลปิอัส (Aesculapius) เป็นเด็กฉลาด เป็นที่รักของอาจารย์เซนทอร์เป็นอย่างยิ่ง อาจารย์จึงถ่ายทอดวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะวิชาการด้านการรักษาโรคให้จนหมดสิ้น
เอสคิวเลปิอัสมีความสามารถในการรักษาโรคได้เก่งกาจกว่าผู้เป็นอาจารย์มาก สามารถรักษาโรคร้ายต่างๆ ให้หายขาดได้ ชื่อเสียงของเอสคิวเลปิอัสจึงเลื่องลือไปไกล
แต่ครั้งหนึ่ง เอสคิวเลปิอัส ได้รักษาคนตายให้ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาได้ ซึ่งนับเป็นการท้าทายและบั่นทอนพลังอำนาจของเทพแห่งสรวงสวรรค์ ซูสจึงตัดสินใจประหารเอสคิวเลปิอัสด้วยอสนีบาตประจำองค์
เทพอพอลโลโกรธมากที่โอรสของตนต้องมาเสียชีวิต แต่ก็ไม่อาจบันดาลโทสะกับซูสผู้เป็นเทพบิดาได้ จึงหันไปไล่เบี้ยกับยักษ์ไซคลอปส์ผู้สร้างอาวุธสายฟ้านี้ขึ้นมา
อพอลโลน้าวธนูเงินหมายสังหารยักษ์ไซคลอปส์ให้สมแค้น จึงถูกซูสลงโทษโดยการเนรเทศอพอลโลให้ลงมาอยู่ทำงานรับใช้มนุษย์บนโลกเป็นเวลา 1 ปี
เทพอพอลโลลงมาเป็นคนเลี้ยงแกะอยู่ริมฝั่งน้ำแอมฟริซัส ให้กับท้าวแอดมีทัส แห่งกรุงเธสสะลี ซึ่งท้าวแอดมีทัสก็ได้มาฟังเทพอพอลโลดีดพิณที่แสนไพเราะเพราะพริ้งอยู่บ่อยๆ ในที่สุดจึงรู้ว่าชายเลี้ยงแกะคนนี้แท้จริงคือเทพอพอลโล
ท้าวแอดมีทัสนั้นหลงรักนางแอลเซสทิส ธิดาท้าวพีเลียสแห่งเมืองไอโอลคัส แต่ท้าวพีเลียสตั้งเงื่อนไขว่าท้าวแอดมีทัสต้องทรงรถศึกเทียมด้วยสิงห์กับหมูป่าไปรับนางแอลเซสทิสได้เท่านั้น พระองค์จึงจะยกธิดาให้ ซึ่งงานนี้เทพอพอลโลได้ให้ความช่วยเหลือ ท้าวแอดมีทัสจึงได้นางแอลเซสทิสมาเป็นมเหสีสมใจ
อยู่มาไม่นาน ท้าวแอดมีทัสเกิดล้มป่วยลงและทำท่าว่าใกล้จะสิ้นชีวิต เทพอพอลโลจึงขอร้องไม่ให้เทวีครองชะตากรรมตัดด้ายสายชีวิตของท้าวแอดมีทัส ซึ่งเทวีครองชะตากรรมก็ยินยอม โดยมีข้อแม้ว่าต้องมีใครยอมสละชีวิตแทนท้าวแอดมิสทัส
ในยามดีทุกคนก็บอกว่ายินดีสละชีวิตให้ได้ แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ กลับไม่มีใครยอมสละชีวิตให้ท้าวแอดมีทัสสักคน ยกเว้นนางแอลเซสทิสผู้เป็นมเหสี
ท้าวแอดมีทัสจึงหายประชวร ส่วนนางแอลเซสทิสกลับล้มป่วยร่อแร่ใกล้ตาย
โชคดีที่เฮอร์คิวลิสผู้เป็นสหายของท้าวแอดมีทัสเดินทางผ่านมาและรับรู้เรื่องราวนี้เข้า เฮอร์คิวลิสจึงเฝ้าคอยขัดขวางไม่ให้แธทานอสมัจจุราชมารับวิญญานของนางแอลเซสทิสไปได้ ซึ่งก็ทำได้สำเร็จ นางแอลเซสทิสจึงหายป่วย
เมื่อท้าวแอดมีทัสได้รับความสุขดีแล้ว เทพอพอลโลก็ได้เดินทางไปกรุงทรอย และไปช่วยเทพโพไซดอนสร้างกำแพงกรุงทรอย โดยการดีดพิณ ใช้เสียงเพลงช่วยเคลื่อนย้ายก้อนหินมาเรียงกันเป็นกำแพงเมือง งานนี้จึงสำเร็จไปได้อย่างรวดเร็ว
ครบกำหนด 1 ปี เทพอพอลโลก็กลับไปอยู่บนโอลิมปัสตามเดิม
ชายาอีกองค์หนึ่งของเทพอพอลโลเป็นนางอัปสร ชื่อ ไคลมินี (Clymene) ทั้งสองมีโอรสด้วยกันหนึ่งองค์ ชื่อว่า เฟอิทอน (Phaeton)
เฟอิทอนนั้นอยู่กับมารดา โดยไม่เคยเห็นหน้าบิดาเลย รู้เพียงว่าบิดาของตนคือเทพอพอลโล เขาจึงถูกเพื่อนหัวเราะเยาะอยู่เสมอ หาว่าแอบอ้างตนเป็นลูกของสุริยเทพ
วันหนึ่ง เฟอิทอนรบเร้าให้มารดาพาไปหาบิดาเพื่อพิสูจน์ว่าตนเป็นโอรสเทพอพอลโลจริง นางไคลมินีจึงบอกทางให้เฟอิทอนเดินทางไปทางทิศตะวันออกจนกว่าจะถึงวังที่ประทับของอพอลโล ณ ที่นั้นจะได้พบกับบิดาสมประสงค์
 
เฟอิทอนด้นดั้นเดินทางจนมาถึงวังของเทพอพอลโล ซึ่งเทพอพอลโลก็จำได้ว่าเป็นโอรสของตน หลังจากรับรู้ความคับแค้นของเฟอิทอนแล้ว เทพอพอลโลก็สาบานกับแม่น้ำสติกซ์ว่าจะช่วย
เฟอิทอนจึงขอเป็นผู้ขับราชรถลากพระอาทิตย์แทนบิดาในวันรุ่งขึ้นเพื่อให้มนุษย์และเทพทั้งหลายได้ประจักษ์ว่าเขาเป็นโอรสแห่งสุริยเทพอย่างแท้จริง
เทพอพอลโลบ่ายเบี่ยงขอให้เฟอิทอนขออย่างอื่น เพราะการขับราชรถลากพระอาทิตย์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะม้าเทียมรถทั้ง 4 นั้นพยศมาก เกรงว่าจะโกลาหลไปทั้งสวรรค์และโลกมนุษย์
แต่เฟอิทอนยืนกรานขอเป็นผู้ขับราชรถตามความตั้งใจเดิม
ด้วยเกรงกลัวต่อแม่น้ำสติกซ์ที่ได้ลั่นวาจาสาบานไปแล้ว เทพอพอลโลจำต้องยินยอมด้วยความไม่สบายใจ
เทพอพอลโลกำชับให้เฟอิทอนขับราชรถด้วยความระมัดระวังเรื่องการห้ามออกนอกเส้นทาง การรักษาความเร็ว และการรักษาระดับความสูงของราชรถไว้ ซึ่งเฟอิทอนก็ทำตามได้ในช่วงต้น แต่เมื่อขับไปสักพัก เขาก็เริ่มประมาท ลืมคำสั่งสอนของเทพบิดาเสียสิ้น
เฟอิทอนเริ่มขับราชรถออกนอกเส้นทาง ทำให้หมู่ดาวและเดือนพากันตกใจ และเมื่อขับราชรถมาใกล้โลกมนุษย์ ต้นไม้ใบหญ้าก็เหี่ยวเฉาไปตามๆ กันด้วยความร้อนจากดวงสุริยา
เฟอิทอนขับรถลงใกล้โลกมนุษย์มากขึ้น ทำให้แผ่นน้ำแห้งเหือด ต้นไม้แห้งตาย แม้ผิวกายมนุษย์ก็ถูกแผดเผาจนกลายเป็นสีดำ และดำจนมาถึงทุกวันนี้ ดินแดนที่เฟอิทอนขับราชรถลงมาใกล้ครั้งนี้คือแผ่นดินอาฟริกานั่นเอง
เฟอิทอนตกใจที่เห็นความวุ่นวายเกิดขึ้นกับโลก เขาจึงลงแส้ม้าชักราชรถให้ถอยห่างออกไป ม้าก็เผ่นโผนโจนทะยานเหออกห่างโลกเสียลิบลับ ทำให้พืชพันธ์ธัญญาหารที่เหลือรอดกลับเหี่ยวเฉาตายลงอีกเพราะความหนาวจัดฉับพลัน ทั้งแผ่นดินแผ่นน้ำตอนนั้นก็มีน้ำแข็งปกคลุมทั่วไปหมด เสียงผู้คนร้องระงมดังขึ้นทุกที จนในที่สุดก็ปลุกซูสมหาเทพให้ตื่นจากบรรทมเล็งทิพยเนตรสืบสวนหาสาเหตุ ครั้นได้ความว่าเหตุเกิดจากเฟอิทอนบังอาจขับราชรถสุริยเทพจนปั่นป่วนวุ่นวายเช่นนั้นก็พิโรธ คว้าอสนีบาตฟาดไปที่เฟอิทอนจนตกจากราชรถเสียชีวิตตกลงสู่แม่น้ำ อีริดานัส ในพริบตา
เฟอิทอนมีพี่สาวร่วมอุทร 3 คน เมื่อเฟอิทอนถึงแก่ความตาย นางทั้ง 3 ก็ไปร่ำไห้ที่ริมฝั่งแม่น้ำจนเทพทั้งปวงสงสารเลยแปลงนางเป็นต้นอำพันหลั่งน้ำตาออกมาเป็นอำพันตั้งแต่บัดนั้น
ฝ่ายเพื่อนเล่นคู่หูคนหนึ่งของเฟอิทอนชื่อ ซิกนัส (Cygnus) ก็ลงงมหาศพ ดำผุดดำว่ายในแม่น้ำจนกลายเป็นต้นตระกูลหงส์เล่นน้ำสืบเชื้อสายพงศ์พันธุ์มาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ส่วนเรื่องราวความรักที่ไม่สมหวังของเทพอพอลลอน เช่น เรื่องของพระองค์กับนางแดฟนี (Daphne)
นางแดฟนีเป็นนางอัปสรรูปงาม ธิดาของ พีนูส (Peneus) เทพประจำแม่น้ำ
เทพอพอลโลได้พบนางโดยบังเอิญกลางป่า พระองค์หมายจะได้นางเป็นชายาจึงเดินเข้าไปหา แต่นางแดฟนีกลับวิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิต ฝ่ายเทพอพอลโลก็วิ่งตามพลาง ส่งเสียงร้องเรียกไปพลาง แต่นางแดฟนีก็ไม่หยุดฟัง ยังคงวิ่งหนีต่อไป
นางแดฟนีวิ่งหนีจนอ่อนกำลังและตระหนักว่านางคงหนีไม่พ้นเทพอพอลลอนเป็นแน่ นางแดฟนีจึงวิ่งไปที่ริมแม่น้ำและร้องขอให้เทพบิดาพีลูสช่วย พีลูสจึงแปลงร่างของธิดาสาวให้กลายเป็นต้นชัยพฤกษ์อยู่ริมฝั่งน้ำนั่นเอง
นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องราวความรักที่มีสาวมาหลงรักเทพอพอลโลอยู่ข้างเดียว คือเรื่องของนาง ไคลที (Clytie)
ไคลที เป็นนางอัปสรประจำน่านน้ำ ธิดาของโอเชียนัสกับธีทิส
ไคลทีหลงใหลใฝ่ฝันเทพอพอลโลอยู่มาก นางจะคอยเฝ้าดูเทพอพอลโลขับราชรถลากดวงอาทิตย์อยู่ทุกวัน โดยที่เทพอพอลโลหาได้มีใจกับนางไม่
ไคลทีแหงนหน้ามองดูเทพอพอลโลนับตั้งแต่ยามเช้าพระอาทิตย์ขึ้น และเฝ้ามองตามไม่ให้คลาดสายตาจวบจนพระอาทิตย์ตก โดยหวังว่าสักวันสุริยเทพจะเหลือบมาเห็นนางบ้าง
ปวงเทพทั้งหลายสงสารในความรักของนางไคลที จึงได้บันดาลให้ไคลทีกลายร่างเป็นต้นทานตะวันที่คอยชูดอกผินตามดวงอาทิตย์ตั้งแต่เช้าจนเย็นเป็นประจำมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
เทพอพอลโลนั้นมีฝีมือทางการดนตรี โดยเฉพาะการบรรเลงพิณสวรรค์ พระองค์จึงมีหน้าที่ดีดพิณขับกล่อมให้ความสำราญกับเหล่าเทพโอลิมเปียนส์ โดยมีบริวารที่ช่วยบรรเลงเพลงสวรรค์อีก 9 องค์ เรียกว่าคณะศิลปวิทยาเทวี หรือ มิวส์
มิวส์ทั้งเก้า เป็นธิดาของมหาเทพซูสกับนางเนเมซิส ประกอบด้วย
ไคลโอ (Clio) เทวีประวัติศาสตร์
ยูเรเนีย (Urania) เทวีดาราศาสตร์
เมลโพมีนี (Melpomene) เทวีเรื่องโศกนาฏกรรม
ธาเลีย (Thalia) เทวีเรื่องสรวล
เทิร์ปซิโครี (Terpsichore) เทวีการฟ้อนรำ
คัลลิโอพี (Colliope) เทวีบทกวีเรื่อง
เออราโต (Erato) เทวีบทกวีรัก
ยูเทอร์พี (Euterpe) เทวีบทกวีร้อง
โพลิฮิมเนีย (Polyhymnis) เทวีบทกวีร่ายอาศิรพจน์ (คำอวยพร)
คลิ๊ก..เพื่อดูภาพขนาดใหญ่ จาก www.wga.hu
แต่บริวารที่ใกล้ชิดเทพอพอลโลที่สุด คือ อีออส (Eos) เทวีครองแสงเงินแสงทอง ผู้ทำหน้าที่เปิดทวารยามอรุณรุ่งให้ราชรถของเทพอพอลโลออกโคจร พร้อมกันนั้นก็ไขแสงเงินแสงทองเป็นสัญญาณเบิกทางโคจรของอพอลโลด้วย  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น